สธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ดูแลสุขภาพปชช. รับมือฝุ่น PM 2.5 ใน 33 จังหวัด จัดคลินิกมลพิษ /คลินิกมลพิษออนไลน์ และห้องปลอดฝุ่น  คาดค่าฝุ่นยังเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ย้ำเช็กค่าฝุ่น-สวมหน้ากากป้องกัน ก่อนออกจากบ้าน

วันที่ 15 ก.พ. 2567 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า จากการติดตามข้อมูลของ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีรายงานข้อมูล ณ เวลา 07.00น. วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2567) มีจังหวัดที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานถึง 56 จังหวัด ในจำนวนนี้มี 45 จังหวัด ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานติดต่อกันมากกว่า 3 วัน โดยจังหวัดที่ค่าฝุ่นละอองสูงสุด คือ อ่างทอง สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรี สุโขทัย กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สระแก้ว ปราจีนบุรี สระบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และนนทบุรี

สำหรับพื้นที่เสี่ยงสูง 30 จังหวัด มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ผู้มีโรคประจำตัว 96,154 คน ผู้สูงอายุ 243,271 คน และเด็กเล็ก 81,922 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพสะสม แบ่งเป็น รับบริการแบบผู้ป่วยนอก 13,762 คน และรับบริการที่ห้องฉุกเฉิน 5,476 คน 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับสถานการณ์ ขณะนี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 33 จังหวัด จัดทำคลินิกมลพิษรวม 434 แห่ง /คลินิกมลพิษออนไลน์ 816 แห่ง มีผู้เข้ารับบริการสะสม 4,293 ราย และจัดทำห้องปลอดฝุ่นรวม 10,588 แห่ง ผู้เข้ารับบริการสะสม 59,117 ราย นอกจากนี้ ยังจัดระบบเชิงรุกดูแลประชาชนในพื้นที่และมอบอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้กับกลุ่มเสี่ยงด้วย ซึ่งจากการคาดการณ์ในช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่

ดังนั้น ขอให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่นเป็นประจำก่อนออกจากบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อปฏิบัติตนตามคำแนะนำได้ถูกต้อง หากจำเป็นขอให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน สำหรับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการใช้บริการห้องปลอดฝุ่น สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือค้นหาห้องปลอดฝุ่นและคำแนะนำในการจัดทำห้องปลอดฝุ่นที่บ้านได้ที่ https://podfoon.anamai.moph.go.th/