“ชลน่าน” เร่งเคลียร์ปม  รพ. หรือสปสช. ใครเป็นหนี้ทางการเงิน  พร้อมเดินหน้าตั้งบอร์ดผู้ให้บริการ หรือ Provider Board  อยู่ภายใต้พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ หากจะแยกอาจต้องใช้ช่องทาง “ซูเปอร์บอร์ด” ชุดนายกฯเป็นประธาน  ขณะเดียวกันมีการคาดหวังให้ระบบมี เคลียริ่งเฮ้าส์  เกิดขึ้นดูแลทุกสิทธิ์

 

หลังจากวานนี้(13 ก.พ.)  ‘5 เครือข่ายสถาบันการแพทย์’ และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยบริการ ร่วมหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชุมเพื่อหาทางออกปัญหาการบริหารจัดการการเงินการคลังของสปสช.ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของหน่วยบริการ รพ.ต่างๆ กระทั่งผลประชุมเบื้องต้นมอบให้สปสช.ยกร่างตั้งคณะกรรมการผู้ให้บริการ หรือ  Provider Board  เพื่อให้รู้ปัญหาหน่วยบริการ และหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมไปถึงปัญหาหนี้ค้าง ที่ยังไม่ชัดเจนว่า ใครเป็นหนี้ใครระหว่าง สปสช.หรือหน่วยบริการ รวมถึงเร่งจัดการหาเงินอุดหนุนช่วยคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้น  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ภายในงานเปิดโครงการ “กระทรวงสาธารณสุข สร้างสุข เติมรัก โอบอุ้มสังคมไทย” ว่า  เบื้องต้นในเรื่องการยกร่าง Provider Board  นั้น ต้องเข้าใจคำนี้หมายถึง คณะกรรมการของผู้ให้บริการทั้งหมดทุกระดับ ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ  ภาคเอกชน โดยในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เพียงแต่จะเป็นเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน แต่หลักการบริการ วิธีการให้บริการ เทคนิคการให้บริการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางผู้ให้บริการก็ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบร่วมกัน จึงมีความคิดว่า ควรมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมารองรับ ที่เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายมาอยู่ตรงนี้

“เรื่องนี้เคยนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) มาก่อน ซึ่งผมเป็นประธานบอร์ดฯ ขณะนั้นมีมติให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการ หรือใช้อำนาจของบอร์ดฯแต่งตั้งได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา หากอยู่ในกฎหมายของสปสช. ก็ต้องอยู่ในอำนาจบอร์ดสปสช.ที่แต่งตั้งขึ้นมา ส่วนจะอนุกรรมการอย่างไรก็ว่ากันไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่าสรุปคือ Provider Board  ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ภายใต้บัตรทอง แต่อยู่ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน เป็นตัวแทนของคน 67 ล้านคน โดยคณะกรรมการจากผู้ให้บริการมารองรับในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้มาสู่เชิงปฏิบัติ ซึ่ง Provider Board จะดูแลเรื่องระบบการให้บริการเป็นหลัก โดยจะครอบคลุมถึงสิทธิประกันสังคมและสิทธิกรมบัญชีกลางด้วย แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในสิทธิสุขภาพต่างๆ

มีการคาดหวังเป็นหน่วยงานกลางธุรกรรมเบิกจ่าย หรือเคลียริ่งเฮ้าส์

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับ Provider Board ทางผู้ให้บริการคาดหวังไปถึงการจัดตั้งเป็น “หน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House)” ซึ่งจะดูแลในทุกสิทธิ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ แต่หลักการทางกฎหมายแล้วหน่วยงานกลางควรจะเป็น สปสช. เพราะไม่ได้ดูเฉพาะบัตรทองแต่ดูทุกระบบสิทธิสุขภาพ

บอร์ดผู้ให้บริการแยกออกจาก สปสช.ได้ผ่านซูเปอร์บอร์ด

ถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่แยกออกจาก สปสช. นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า   ก็ทำได้ แต่ต้องไปดูว่ามีอำนาจกฎหมายใดมารองรับ อย่างที่พิจารณากันอยู่คือ ใช้อำนาจของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ(ซูเปอร์บอร์ด)  ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มาช่วยพิจารณา แต่ดูแล้วหากใช้อำนาจจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้ที่มาจากกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุดเฉพาะด้าน เฉพาะกิจ ดังนั้นหากภาคการเมืองหมดวาระไป คณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมา ก็ต้องหมดวาระไปด้วย ต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็จะไม่ยั่งยืน แต่หากตั้ง Provider Board ภายใต้กฎหมายที่เฉพาะด้าน อย่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่พูดถึงทุกสิทธิ ก็จะเกิดความยั่งยืน

หาข้อสรุปใครเป็นหนี้ใคร สปสช.หรือรพ.

เมื่อถามว่าสรุปแล้วทาง สปสช. มีการค้างจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการหรือหน่วยบริการค้างจ่ายสปสช. นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นหนี้เชิงระบบบัญชีของวิธีการคิดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างให้เข้าใจ คือ สปสช.กำหนดหน่วยการจ่ายอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหน่วย แต่หน่วยบริการต่างๆ ทำงานได้เพียง 7,900 บาทต่อหน่วย แต่มีการจ่ายไปแล้ว 8,350 บาท ดังนั้นส่วนนี้จึงเป็นภาระหนี้ค้างบัญชี แต่การตีความหน่วยของแต่ละที่ มีวิธีคิดที่ไม่สอดคล้องกัน อย่างกรณี รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ที่ทำได้ถึง 20,000 บาทต่อหน่วย แต่มีการจ่าย 8,350 บาท แบบนี้ใครจะเป็นหนี้ใคร หรืออย่างเครือข่าย รพ.ในสังกัดโรงเรียนแพทย์ที่มีค่าเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 13,500 บาท ซึ่งหากสปสช. จ่ายเพียง 8,350 บาท ก็จะมีคำตอบในตัวว่าใครเป็นหนี้ใคร เพียงแต่ว่าขณะนี้ สปสช. ถือหลักว่ามีการจ่ายหน่วยละ 8,350 บาทแล้วแต่ทางหน่วยบริการทำงานได้ 7,900 บาท หรือ 8,100 บาท ทางหน่วยบริการก็จะเป็นหนี้ สปสช.

“แนวทางที่ให้ไว้สำหรับหนี้ทางบัญชีที่เกิดจากวิธีการคิดของการจ่าย ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้สะท้อนมาจากการให้บริการของแต่ละที่ จึงให้แนวไปว่า การกำหนดวิธีคิดเช่นนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับการให้บริการจริง ทำให้หน่วยบริการเป็นหนี้ สปสช. แต่หากไปดูข้อเท็จจริง หน่วยบริการมีการให้บริการที่มากกว่านั้น จึงให้ สปสช.ไปดูวิธีการคิดให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะเป็นหนี้ทางบัญชีเท่านั้น จึงให้มีการชะลอการเรียกเก็บหนี้ ซึ่งหากมีการพิสูจน์ได้ว่าวิธีการคิดเช่นนี้ไม่ชอบ ไม่เหมาะสม ก็อาจมีวิธีคิดแบบใหม่มา ซึ่ง สปสช. อาจจะเป็นหนี้หน่วยบริการด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว

 

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

-“ชลน่าน” สั่งสปสช.ร่าง Provider Board ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายแพทย์ แต่อยู่ใต้พรบ.บัตรทอง