สรุปผลหารือ ‘5 เครือข่ายสถาบันการแพทย์’ ร่วม สปสช. สธ. เดินหน้าตั้ง Provider Board ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการให้บริการ “ชลน่าน” มอบ สปสช.ยกร่างให้อยู่ภายใต้พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ของสปสช. เสนอเข้าบอร์ดพิจารณา ด้านคลินิกชุมชนอบอุ่นยังไม่เอาป้ายลงรอติดตาม ขณะที่ยูฮอสเน็ตรับสัญญาณดี แต่ต้องติดตามเช่นกัน ขณะที่หนี้ค้างชำระของรพศ/รพท. ให้ชะลอก่อน เร่งเคลียร์ปัญหาเงินคลินิกกทม.
จากกรณีเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 5 สถาบันการแพทย์ ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ยูฮอสเน็ต) ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ราว 100 คน ร่วมถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีปัญหาบริหารการเงินการคลังของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่ทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง หวั่นกระทบระบบบริการสาธารณสุข โดยได้มีการปิดห้องประชุมร่วมกัน ซึ่งนพ.ชลน่าน ร่วมหารือด้วยนั้น
(ข่าวช่วงเช้า : “5 เครือข่ายแพทย์” ไม่ทน! ตบเท้าร้อง “ชลน่าน” แก้ปัญหาขาดทุนจาก สปสช. ลุ้นผลวันนี้)
เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วยรศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (UHosNet) นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) นพ.เกรียงไกร นามไธสง ประธานชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ตัวแทนสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมแถลงข่าวภายหลังการหารือราว 2 ชั่วโมง ซึ่งมีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.เข้าร่วม แต่ติดภารกิจไม่สามารถร่วมแถลงข่าวได้ และมอบปลัดสธ.ให้ข้อมูลหลังประชุมแทน
นพ.โอภาส กล่าวในฐานะหน่วยบริการว่า จากการประชุมครั้งนี้ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า อยากให้มีเสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการบ้าง ในที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรผลักดันให้มีคณะกรรมการของผู้ให้บริการ หรือ Provider Board เพื่อคอยสะท้อนถึงนโยบาย กฎเกณฑ์ กติกาของสปสช.ออกมา โดยเลขาสปสช.เห็นด้วย และประการเร่งด่วนเรื่องระบบจ่ายเงิน มีการพูดถึงเงินค้างจ่าย หนี้ที่ไม่รู้ใครเป็นหนี้ใครหลายพันล้านบาท ซึ่งรัฐมนตรีฯ เห็นว่าต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยการหักเงินให้ชะลอก่อน และเงินที่ค้างต้องทำความตกลงว่า จะอัดเงินเข้าระบบอย่างไร อย่างของคลินิกต่างๆ โดยเฉพาะกทม.ต้องอยู่ได้
ด้านนพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่ตรงกัน อย่างปีก่อนเรายังชะลอก่อน เพื่อให้มีระบบดูแลตัวเลขกันก่อน ทั้งของคลินิกและรพ.ต่างๆ อันนี้คือที่พูดถึงการเป็นหนี้กัน และในส่วนของปี 2567 สำหรับคลินิกที่กังวลว่า งบฯไม่พอ จึงมีมติว่าให้จ่ายลดลงก่อน แต่ท่านรัฐมนตรีฯ ให้นโยบายเร่งทำข้อมูลตรงนี้ โดยจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างคลินิก สปสช. และมีคณะกรรมการย่อย โดยมีนพ.สนั่น เป็นประธาน เพื่อให้เคลียร์ตรงนี้ โดยหลักต้องจ่ายตามอัตราเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เมื่อวันนี้ทางคลินิกบอกว่า ไม่เห็นข้อมูลของสปสช. ตรงนี้ก็มีปัญหาโดยต้องรีบเปิดข้อมูลให้ดูอย่างชัดเจน แต่การเปิดเผยข้อมูลก็ต้องระวัง ซึ่งทางสปสช.จะรีบจัดการ อย่างไรก็ตาม สำหรับทางคลินิกยืนยันว่า ไม่มีการส่งผู้ป่วยออกไป แต่กลับมีข้อมูลตรงนี้ ทำให้เป็นการกินข้อมูลหรือไม่ เรื่องนี้ 4 เดือนใช้ไปครึ่งหนึ่งแล้ว นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนต้องจัดการ รวมไปถึงเรื่อง Provider Board ก็จะนำไปพิจารณาดำเนินการเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าวางกรอบการทำงานอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆ อยากให้วันนี้ พรุ่งนี้ แต่เวลาคุยก็ไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่จะรีบทำให้เร็วที่สุด ก่อนสิ้นเดือนได้หรือไม่
เมื่อถามว่ากลไกการตั้ง Provider Board จะเป็นอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆคือจะตั้งอยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หลักคือ อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการฯ ซึ่งรัฐมนตรีฯ ชี้แจงว่ามีอำนาจ จริงๆมีกลไกอื่น แต่กลไกนี้โอเค โดยสิ่งสำคัญต้องดูเรื่องบทบาท และให้กลับไปตั้งต้นที่คณะอนุกรรมการที่มีบทบาทเสนอเรื่องโดยตรง คือ คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายของสปสช. ซึ่งสำนักงานฯ เตรียมยกร่าง ประสานกับทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นการยกร่างและเสนอผ่านคณะอนุกรรมการฯเข้ามา
“ที่เคยเสนอเรื่องตั้งบอร์ดมาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ว่าปัด ไม่เอาอะไร เพียงแต่การเสนอบอร์ดแต่ละครั้งอาจเป็นวาระด่วน วาระจร ทางบอร์ดใหญ่อาจทักท้วงหรือพิจารณาไม่ทัน ดังนั้น ครั้งนี้เราคิดว่า น่าจะยกร่างและเสนอคณะอนุกรรมการฯ เสนอบอร์ดภายใน 1 เดือน” นพ.จเด็จกล่าว
เมื่อถามว่าการจัดตั้ง Provider Board จะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งหน้า 21 ก.พ.นี้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า หากไม่ทันก็จะเป็นครั้งหน้าในเดือนมีนาคม 2567 อย่างไรก็ตาม บอร์ดนี้โดยหลักการจะมีทุกภาคส่วนเข้ามา อย่างภาคประชาชนก็ถือเป็นผู้ให้บริการตามมาตรา 3 เช่นกัน ก็จะมีการเสนอเข้ามาเยอะหน่อย ก็ไม่เป็นไร เยอะแต่ต้องครอบคลุม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หลักๆ 5 เครือข่ายแพทย์ที่มาเรียกร้องครั้งนี้จะต้องเป็นหนึ่งในกรรมการของ Provider Board หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ควรเป็นเช่นนั้น รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ถ่ายโอนด้วย เพราะเป็นผู้บริการเช่นกัน หรือภาคประชาชนที่ดูแลคนไข้เอดส์ก็เช่นกัน ทำให้มองตอนแรกๆ อาจมองเร็วนิดหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องพิจารณาทั้งหมด
เมื่อถามว่าอำนาจหน้าที่ของ Provider Board จะดูหลักๆเรื่องวิธีคิดการจ่ายเงิน โมเดลต่างๆ ใช่หรือไม่ เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ต้องอยู่ที่บทบาทหน้าที่ ท่านปลัดสธ.พูดเสมอว่า สปสช.ทำงานเองไม่ได้ เพราะเราไม่มีหน่วยบริการในระบบ หลักๆคือ กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น เมื่อออกสิทธิประโยชน์อะไรไปหากทำไม่ได้จะมีปัญหา จึงต้องมีการพูดคุยกัน ดังนั้น จะดูเรื่องระบบการจ่ายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด
เมื่อถามว่าสุดท้าย Provider Board ก็จะกลับมาที่บอร์ดสปสช.ใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ควรเป็นเช่นนั้น เพราะระบบของพ.ร.บ.หลักประกันฯ เน้นการรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว ซึ่งหลายท่านบอกว่าหลายอย่างยังมีส่วนร่วมไม่พอ ดังนั้น การมี Provider Board ก็จะทำให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เรื่องนี้จึงอยากให้มองบวกและร่วมกันขับเคลื่อนดู
ถามต่อว่าในส่วนคลินิกชุมชนอบอุ่น ต่อไปเมื่อมีปัญหายังต้องให้เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติระดับพื้นที่ หรืออปสข.เขตของสปสช. หรือสามารถเข้าสู่ Provider Board นพ.จเด็จ กล่าวว่า กติกาที่กำหนดยังผ่องถ่ายไปที่อปสข.เขต แต่บางเรื่องก็ควรเข้าบอร์ด สปสช. ได้เช่นกัน เพื่อให้บอร์ดได้ความเห็นอีกเช่นกัน เรื่องนี้ก็รับนโยบายมาแล้ว หากทันจะเข้าสู่บอร์ดสปสช.พิจารณา
ด้าน นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับยูออสเน็ต ขอยืนยันว่า สิ่งที่เราดำเนินการต้องไม่กระทบประชาชน สบายใจได้ เพียงแต่เรานำข้อมูลจริงนำมาสะท้อนกลับให้ผู้ใหญ่ทราบ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมก็ดีใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการดำเนินการของระบบ
ผู้แทนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า ยังคงขึ้นป้ายเรียกร้อง จนกว่าจะเห็นผลว่า มีการดำเนินการอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไปอยู่ที่ อปสข.ตลอด และกรรมการชุดใหญ่ทำงานอะไร เรื่องนี้จึงต้องติดตามว่า จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ จะจ่ายเงินให้คลินิกบัตรทองได้เมื่อไหร่
ด้าน นพ.อนุกูล กล่าวว่า เรื่องหนี้ ทางรัฐมนตรีฯ ให้ชะลออย่าเพิ่งหักเงิน ให้มาหารือระบบภาพรวมร่วมกันก่อน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมจะเน้นเรื่อง Provider Board ก่อน ก็ต้องมาติดตามว่า โครงสร้าง บทบาท สัดส่วนกรรมการจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องต้นทุนนั้นยังไม่มีการพูดคุยในวันนี้ อาจต้องอยู่ที่งบขาขึ้นด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ต้องติดตามว่า จะมีการแก้ไขอย่างไร ซึ่งในการประชุมวันนี้ทิศทางเริ่มดี แต่ก็ต้องติดตามต่อไป
- 1216 views