สสส. ชวน กำลังพล 1,300 นาย สังกัดกลาโหม สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อสุขภาพดี พัฒนา 5 นวัตกรรมสุขภาพ หนุน เป็นต้นแบบองค์กรแห่งความสุข รองปลัด สป. กลาโหมเตรียมขยายผล 3 เหล่าทัพ คนต้นแบบผู้นำสุขภาพภายในปี 68
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ศาลาว่าการกลาโหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ พล.อ.ธนภัทร ณิยกูล รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากผลการตรวจสุขภาพ ปี 2563-2565 พบแนวโน้มป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะเนือยนิ่ง มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการทำงานบริหาร หรืองานประจำสำนักงาน บางส่วนสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารไม่ถูกหลักตามโภชนาการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จึงเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของกำลังพลที่มีกว่า 1,300 คน ตามนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสวัสดิการด้านกำลังพล ปี 2566 จึงได้เร่งสานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาโครงการ “สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแห่งความสุข" มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรค NCDs ในระยะยาว
โครงการมียุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาวะ 2 ยุทธศาสตร์ คือ
1.การสร้างเสริมสุขภาวะและความอยู่ดีมีสุขกำลังพล สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายแก่หน่วยงานสังกัด 23 หน่วย
2.การสร้างเสริมสุขภาวะกำลังพลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะ มุ่งเป้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพลดเสี่ยง NCDs ลง 50% โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสุขภาพ เพื่อให้กำลังพลสามารถดูแลตนเองได้ เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาวะ นำไปสู่การเป็นแกนนำสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนรวม ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพดี สร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวกับการทำงาน สู่การยกระดับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแห่งความสุข พัฒนาเป็น “กระทรวงกลาโหมแห่งความสุข” ครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ ภายในปี 2568
สสส.ชู 5 นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสป.กลาโหม
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มองค์กร ตั้งแต่ปี 2547 สานพลัง 80 ภาคีองค์กรสุขภาวะ กว่า 80 องค์กร พัฒนานวัตกรรมองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) นำชุดความรู้ สื่อ และเครื่องมือสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร ลดเสี่ยง NCDs ครอบคลุมการรู้เท่าทันทางสุขภาพ 7 ประเด็นที่สำคัญ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ อุบัติเหตุ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจกรรมทางกาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ สามารถเสริมสร้างศักยภาพองค์กรแห่งความสุขที่ตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรกว่า 10,000 แห่ง
สสส. เห็นความสำคัญของคนทำงานในกองทัพ ในฐานะทุนสำคัญทางสังคมที่สำคัญของประเทศ ที่เชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพสู่วิถีชีวิตทุกคน สามารถส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพได้ สสส. ได้พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของสำนักงานปลัดกลาโหม 5 นวัตกรรม คือ
1.เว็บแอปพลิเคชันระบบฐานข้อมูลสุขภาพกำลังพล
2.หลักสูตรทหารฟิตเท่ ชุดความรู้สุขภาพรูปแบบ E-learning
3.หลักสูตรต้นแบบและเทคนิคการปรับเปลี่ยนสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย NCDs
4.โรงเรียนเตรียมเกษียณสุข
5.กิจกรรมลดพุง ลดโรค ทั้งหมดนี้ ถือเป็นแนวทางการป้องกันการเกิดโรค NCDs ของ สสส. โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573
- 1593 views