กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (CREC) ช่วยลดปัญหาซ้ำซ้อนการพิจารณาโครงการวิจัยในคนแบบสหสถาบัน พร้อมจัดประชุมพัฒนาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนงานจริยธรรมการวิจัยในคนให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
นพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์บางส่วนมีการวิจัยทางคลินิก ศึกษาทดลองเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น ยาใหม่ เครื่องมือ/เทคโลยี และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยต้องขอยื่นโครงการวิจัยและข้อมูลต่าง ๆ ให้คณะกรรมจริยธรรม
การวิจัยในมนุษย์ของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดพิจารณา แต่ปัจจุบันมีการวิจัยทางคลินิกร่วมกันหลายสถาบัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพิจารณา สถาบันต่าง ๆ ที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับการวิจัยด้านสุขภาพในมนุษย์ในประเทศไทย จึงทำข้อตกลงจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน” หรือ Central Research Ethics Committee (CREC) เป็นหน่วยงานกลางเพื่อพิจารณาโครงการวิจัยแบบสหสถาบัน โดยมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ของโรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม CREC ด้วย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ เป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน และต้องอาศัยการประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย (มสจท.) จึงจัดประชุมเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานระหว่าง CREC กับคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2565 – 2566” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กทม. โดยมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่สนใจ
เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์กว่า 300 คน และออนไซต์จำนวน 80 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลง การพิจารณาโครงการวิจัยแบบสหสถาบัน และเป็นเวทีให้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์
“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการบริหารจัดการงานจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ได้แก่ การสนับสนุนทรัพยากรแก่คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ที่เหมาะสมและเพียงพอ การจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน การจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย การพัฒนาระบบติดตามการพิจารณารูปแบบดิจิทัล การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ทุกระดับ และพัฒนาเครือข่ายทั้งระดับจังหวัด ระดับเขตและระดับประเทศ” นพ.ภูษิตกล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 482 views