สสส. สานพลัง ภาคี จ.สงขลา จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้ทันบุหรี่ไฟฟ้า-ป้องกันโรค NCDs” ดึง เยาวชนร่วมตระหนักพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมขยายผลตลาดเขียว ผลิต-จำหน่ายอาหารปลอดภัย สร้างรายได้-ปรับวิถีชีวิตคนในชุมชน
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุน สสส. ผู้บริหาร สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานภาคีเครือข่ายและร่วมกิจกรรม Healthy Hero เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันโรค NCDs จ.สงขลา จัดโดย สสส. ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และภาคีเครือข่าย
นางประภาศรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ใน 4 พื้นที่นำร่อง จัดกิจกรรม Healthy Hero เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs มุ่งเพิ่มกิจกรรมทางกายผ่านการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง รณรงค์สร้างความตระหนักถึงอันตรายจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เยาวชนรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันไม่ให้เยาวชนเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีนักวิ่ง นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ร่วมเดิน-วิ่งระยะทาง 5 กม. กว่า 1,000 คน โดยนักวิ่งได้รับเสื้อ BIB และเหรียญที่ระลึก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประกวดคลิปต้นแบบคนรักสุขภาพ ผ่านแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก “HealthyHero.TH” ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Healthy Hero ห่างไกลโรค NCDs และบุหรี่ไฟฟ้า
“นอกจากกิจกรรม Healthy Hero ที่กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คนไทยออกมาเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ตระหนักถึงอันตรายจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเป็นการสานต่อการพัฒนาแผนกิจกรรมทางกายควบคู่กับการขยายผลโครงการตำบลบูรณาการอาหารของท้องถิ่น การจัดการระบบอาหารและการเชื่อมโยงผลผลิตกลไกตลาดเขียวที่เป็นต้นแบบสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกด้วย” นางประภาศรี กล่าว
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ค่านิยมและความเข้าใจผิดเรื่องความร้ายแรงของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก เยาวชนเกิดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กิจกรรม Healthy Hero ช่วยสร้างความรู้ ความตระหนัก ป้องกันไม่ให้เยาวชนเสพติดบุหรี่ เป็นการแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของชุมชน นอกจากนี้ ม.อ. ยังมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่จะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสุขภาพ รวมถึงการทำงานร่วมกับท้องถิ่นในการยกระดับการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างอาชีพ ให้สามารถดูแลตนเองได้ นำไปสู่การสร้างกลไกในสังคมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายกอเส็ม ดาอี รองนายกเทศมนตรีตำบลปริก จ.สงขลา กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริก สานพลัง ผู้นำชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ ต.ปริก เพื่อสร้างการจัดการระบบอาหารในชุมชน ทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย โดยเปิดตลาดเขียว “หลาดต้นปริก” ให้ผู้ผลิตที่เป็นชาวบ้านจำหน่ายสินค้าปลอดสารพิษและสารเคมีโดยตรง โดยผ่านการตรวจสอบสารปนเปื้อน จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. และภาชนะที่ใส่อาหารเน้นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จุดจำหน่ายบริเวณลานด้านหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลปริก ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.สินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม จ.สงขลา กล่าวว่า อบต.ท่าข้าม มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ สานพลังเกษตรกร เปิดตลาดเขียว “หลาดสร้างสุข” จำหน่ายอาหารปลอดภัยที่ผลิตในพื้นที่ท่าข้ามทุกวันศุกร์แรกของเดือน เช่น เห็ดแครง ข้าวเหนียวดำ ผักปลอดสาร ไก่บ้าน ผึ้งโพรงไทย ผึ้งยวน ที่สำคัญยังจัดตั้งโรงเรียนท้องนา ปลูกฝังเด็ก เยาวชนเรียนรู้และพัฒนาพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Thakham Trail เพิ่มกิจกรรมทางกายสอดแทรกการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ เป็นต้นแบบขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
- 103 views