ส่องการทำงาน  Health  Rider  รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ไม่ใช่แค่อสม. แต่เจ้าหน้าที่ในรพ.หลังเลิกงาน สามารถขึ้นทะเบียน Provider ID ร่วมทีมจัดส่งยาเดลิเวอรี่ถึงบ้านคนไข้ หารายได้พิเศษ ช่วยหนุนเสริมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ความหวังลดภาพความแออัด ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ห้องยาในอนาคต

  

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จัดโครงการ อสม.ไรเดอร์ หรือ Health  Rider   บริการส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน ภายใต้ “1 province 1 Hospital”  ให้เป็นนวัตกรรมหนุนเสริมโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  

แน่นอนว่า Health  Rider  จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจในการร่วมขับเคลื่อนภายใต้งาน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เนื่องจากเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วจัดส่งยา เวชภัณฑ์จำเป็นไปส่งให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ถือเป็นโครงการที่อำนวยความสะดวกทั้งผู้ป่วยและญาติ ไม่ต้องเดินทางมารับยาถึงโรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สะดวกไปรับยาที่ร้านยา

“การมีระบบจัดส่งยาถึงบ้าน ทั้ง Health  Rider  หรือไปรษณีย์ รวมไปถึงรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ทำให้ภาพคนไข้รอคิวรับยาน้อยลง  เภสัชกร เจ้าหน้าที่ห้องยาก็ลดความตึงเครียดจากช่วงเวลาเร่งด่วนได้มาก..”  ภญ.น้ำฝน แสวงภาค ผู้ช่วย ผอ.ด้านบริการด่านหน้า รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี  กล่าวตอนหนึ่งถึงข้อดีจากระบบการจัดส่งยาถึงบ้าน ระหว่างพาคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และสื่อมวลชน เยี่ยมชมระบบ Health  Rider ของรพ.เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เป็นอีกหน่วยบริการ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง( เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด นราธิวาส) ที่ใช้ระบบจัดส่งยาที่บ้าน มาเป็นเครื่องมือในการจัดระบบภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยภญ.น้ำฝน บอกว่า หลังจากคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า คนไข้ชอบระบบจัดส่งยาแบบเดลิเวอรี่มากกว่าวิธีอื่นๆ เพราะเขามองว่าสะดวก ยิ่งคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง คุมอาการได้แล้ว ไม่อยากมารับยาที่รพ. หรือรับยาที่ร้านยา แต่ทางรพ.พระจอมเกล้า จะส่งเสริมให้ไปรับยา ที่ร้านยาก่อน เพราะต้องการให้มีการพูดคุยกับเภสัชกร   

หลักๆคือ หากเป็นคนไข้ที่สามารถจัดส่งยาได้ โดยไม่ต้องรับยาที่รพ. แบบทันที ก็จะแนะนำให้รับยาเองที่ร้านยาใกล้บ้านก่อน  แต่หากคนไข้ไม่สะดวกจริงๆ จึงจะจัดส่งยาทางเดลิเวอรี่ หรือไรเดอร์ และกรณีถ้าคนไข้ไม่สะดวกไม่มีคนอยู่บ้านรอรับ ก็จะให้จัดส่งทางไปรษณีย์ เพราะหากไม่มีใครรับ พัสดุจะไปอยู่ที่ไปรษณีย์ คนไข้หรือญาติสามารถไปรับเองที่ทำการไปรษณีย์ได้

ภาพคนไข้รวมกันรอรับยาจะค่อยๆลดลง

 “สิ่งที่มุ่งหวังคือ เราต้องการเห็นภาพคนไข้มารวมกันรอรับยาค่อยๆ ลดลง ภาพความแออัดจะค่อยๆหายไป นี่คือเป็นนโยบายของผู้อำนวยการรพ.พระจอมเกล้า  ต้องการลดแออัด ลดการรอคอย  ซึ่งเราทำเรื่องเดลิเวอรี่เมื่อปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ภาพการรอคอยรับยาของคนไข้ ดีขึ้นมาก ระยะเวลารอคอยลดลง เพราะเราตัดคนไข้ไม่ต้องรอรับยาออกไป ทำให้หน้าบ้านเบาบางลง”ภญ.น้ำฝน กล่าว

ภญ.น้ำฝน ยังตอบคำถามเรื่องระบบนี้ช่วยให้ภาระงานห้องยาคล่องตัวขึ้นหรือไม่   ภญ.น้ำฝน กล่าวว่า ขณะนี้เพิ่งเริ่ม แต่เมื่อทำไปสักระยะเชื่อว่าจะดีขึ้น เพราะเรามีบริษัทขนส่งมาช่วยแพคยาลงกล่อง  และเดิมภาระงานห้องยาจะหนักมาก โดยเฉพาะช่วง rush hour  อย่างช่วงเช้าจะไม่ค่อยมากนัก เพราะคนไข้ยังไม่ได้ตรวจ ช่วงบ่ายก็จะเป็นบางช่วง เหมือนระบบนี้ทำให้เราเกลี่ยงานได้กระจาย  ไม่ต้องมากระจุกบางช่วงเวลา  

ลดความตึงเครียดบุคลากรห้องยา

“ที่สำคัญช่วยลดความตึงเครียดในภาวะเร่งด่วนที่คนไข้มารอรับยาจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเที่ยง    เจ้าหน้าที่ไม่ได้กินข้าวก็มี บางครั้งเจอเหตุการณ์คนไข้กดดันและพยายามถามว่า เมื่อไหร่จะได้ยา  แต่ระบบนี้ช่วยลดปัญหาดังกล่าวไปมาก  อย่างที่ห้องยาผู้ป่วยนอกของรพ.พระจอมเกล้า มีประมาณ 10 คน   และมีเจ้าหน้าที่จัดยาอีก 5-6 คน การทำงานก็คล่องตัวขึ้น มีเวลาไปทานข้าว จากเดิมช่วงเวลาเร่งด่วนแทบไม่ได้กินข้าวกัน แต่เราก็ต้องทำ เพราะคนไข้มารอเยอะ” ผู้ช่วย ผอ.ด้านบริการด่านหน้า รพ.พระจอมเกล้า กล่าว

สำหรับการจัดส่งยาของรพ.พระจอมเกล้า โดยเฉพาะการจัดส่งยาผ่าน Health Rider นั้น  จะมีทั้งคนไข้ที่มารับบริการที่ รพ.แต่ไม่ประสงค์รับยาที่ รพ. กับคนไข้ที่เทเลเมดิซีนแล้วต้องการรับยาที่บ้าน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับยาที่บ้านได้ ต้องผ่านการคัดกรองโดยเภสัชกรก่อนว่า เคสนี้ส่งได้หรือไม่ได้ เป็นยาเดิมหรือไม่ หรือต้องรับยาเร่งด่วนก็จะไม่เข้าเกณฑ์  รวมถึงยาแช่เย็นเราจะไม่ส่งเลย จะส่งไปทางร้านขายยาเท่านั้น โดยรถ รพ.นำส่งไป ยาที่มีผลต่ออุณหภูมิที่ไม่สามารถเก็บอุณหภูมิห้องได้ ก็ให้ไปรับร้านยา

ทั้งนี้ ข้อดีของไรเดอร์คือส่งถึงภายใน 1 วัน จะส่งภายในอำเภอเมืองเพชรบุรี ระยะ 15 กิโลเมตร จะมีเภสัชกรโทรไปแนะนำการใช้ยาทุกเคส 100% ภายในวันนั้นหรือช้าสุดคือเช้าวันพรุ่งนี้ ส่วนอำเภออื่นจะส่งระบบ Express ใช้ระบบโลจิสติกส์ของ One Platform ที่จะจ้างกับบริษัทเอกชน  และไปรษณีย์ เขาก็จะเรียกมารับ ซึ่งจะเสีย 55 บาท ส่งทั่วประเทศไทย แต่ไปรษณีย์จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ระยะก็จะนานขึ้น แต่เราคัดกรองแล้วว่าส่งทางไปรษณีย์คือสามารถรอได้ ไม่เกิน 3 วัน โดยเภสัชกรจะโทรหาคนไข้ เพื่อแนะนำการใช้ยา

“เรามีการติดตามคนไข้เรื่องการใช้ยา 100%  มีบ้างที่โทรไปไม่รับสาย แต่ส่วนใหญ่รับสาย 98% เราจะโทรไปมากกว่า 3 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเราโทรไปหลังคนไข้ได้รับยา เพื่อสอบถามว่ารับยาหรือยัง และแนะนำการใช้ยา” ภญ.น้ำฝน กล่าว

Health Rider หนุนจนท.ในรพ.มีรายได้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Health Rider ของรพ.พระจอมเกล้า ต้องขึ้นทะเบียน Provider ID   เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีทั้ง อสม. และเจ้าหน้าที่ของรพ. โดยหากเป็นบุคลากรในรพ.ก็จะจัดส่งยาหลังเลิกงาน เพิ่มรายได้ได้อีกทางหนึ่ง  ซึ่งขณะนี้มี Health Rider ประมาณ 5-10 คน พอเลิกงานก่อนกลับบ้านก็จะไปแวะห้องยาเพื่อเอายาไปส่งให้คนไข้ โดยระบบการส่งยานั้น จะมีบริษัทโลจิสติกส์เอกชนรับช่วงตรงนี้ไป เพราะจะมีแอปพลิเคชันที่เชื่อมข้อมูลกับ รพ. เพื่อระบุและติดตามที่อยู่คนไข้ในการส่งยาถึงบ้าน เพราะหากให้เจ้าหน้าที่ไปเองก็จะไม่รู้ว่าต้องไปหลังไหน และจะมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ รพ. และบริษัทเอกชน รวมถึงรายได้ให้เจ้าหน้าที่

"เมื่อก่อนจะเป็นไรเดอร์ทั่วๆ ไป แต่โครงการนี้เราสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เรามีรายได้มากขึ้น จากที่มีแต่ อสม. ตอนนี้เลยชวนเจ้าหน้าที่ พอทำงานเสร็จก็จัดส่งยาได้เลย โดยเป็นการส่งยาใกล้บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สามารถสมัครได้ทุกคนทุกวิชาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่ไอทีบ้านอยู่ชะอำ ขับรถยนต์มา ไหนๆ ก็ขับกลับบ้านอยู่แล้ว ก็จะขับไปส่งยา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมอเตอร์ไซค์ เป็นรถยนต์ก็ขับไปส่งยาได้" ภญ.น้ำฝนกล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การเบิกจ่ายเงินการจัดส่งยาผ่าน Health Rider ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จ่าย 50 บาทเพียงพอหรือไม่   ภญ.น้ำฝน กล่าวว่า จริงๆ 50 บาทที่สปสช. จัดสรร หากพิจารณาว่า ต้องแบ่งให้ไรเดอร์ ก็ไม่น่าจะมากนัก แต่ก็ต้องมาคิดสัดส่วนว่าจะเป็นอย่างไร ต้องราคาเท่าไหร่    แต่กรณีหาก ไรเดอร์ จัดส่งยาใกล้บ้าน แม้จะได้เปอร์เซ็นต์ไม่มาก แต่หากจำนวนจัดส่งยาเยอะ ก็ถือว่ามากเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม กรณีสิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยบางรายยอมจ่ายค่าส่งทางไปรษณีย์เอง คือ คิดปลายทาง 55 บาท   แต่ผู้ป่วยบัตรทองอยู่ในสิทธิ 30 บาท ฟรีทั้งหมด

Health Rider จึงเป็นอีกโครงการที่มาอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้กลุ่มโรคเรื้อรัง และโรคอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องรับยาอย่างเร่งด่วน หากขยายโครงการไปยังรพ.อื่นๆ เพิ่มขึ้นรองรับ 30 บาทรักษาทุกโรค ภาพความแออัดจุดรอรับยา ในรพ. น่าจะน้อยลงได้ ขอให้เป็นจริง...

 

อ่านข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :

-‘30 บาทรักษาทุกที่’ จ.เพชรบุรี ความท้าทายการให้บริการ ภาระงาน งบประมาณ

“ชลน่าน” สั่ง สปสช.หารือปมจ่ายเงินคลินิก ‘30 บาทรักษาทุกที่’ จัดงบ 800 ล้านรับเฟส 2

-รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี  ชูวิถีสุขภาวัฒน์ จากนี้โรงพยาบาลจะไม่ใช่แค่การรักษาโรคเท่านั้น