รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ชูท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รับนโยบาย “เศรษฐกิจสุขภาพ” 1 ใน 13 ประเด็น “รมว.ชลน่าน”  เน้นท่องเที่ยวผสมผสานสุขภาวะดี เริ่มเช็กอิน “เขาพนมขวด” จุดสักการะพระบรมพุทธสารีริกธาตุขนาดน้อย 7 พระองค์ ท่องเที่ยวอาคารเก่า เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลานสุขภาวัฒน์ นวดรักษา พอกตาด้วยสมุนไพร การบำบัดจาก “กลิ่นสุขภาวัฒน์”  

 

“ วิถีสุขภาวัฒน์  เกิดจากแนวคิดที่ไม่อยากให้โรงพยาบาลเป็นเพียงหน่วยบริการรักษาโรคเท่านั้น จึงได้ริเริ่มพัฒนาพื้นที่ของโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในการดูแล ส่งเสริมป้องกันสุขภาพประชาชนจนเกิด ลานสุขภาวัฒน์ ขึ้น”  ถ้อยคำหนึ่งของ นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เล่าถึงแนวคิดของการพัฒนาวิถีสุขภาวัฒน์

รพ.พระจอมเกล้า (เดิมชื่อ รพ.เพชรบุรี)  เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับชุมชน และท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพประชาชน และขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดแนวคิดการจัดบริการสุขภาพ ด้วยนโยบาย ชาวเพชรบุรีสุขภาพดี ด้วยวิถีสุขภาวัฒน์ เริ่มต้นจากบริเวณลานหน้าอาคารวชิรญาณวโรรส(อาคารคลินิกแพทย์แผนไทย) ซึ่งเป็นพื้นทีที่เหมาะสำหรับใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนแบบองค์รวม คือ ด้านหน้ามีพื้นที่สีเขียว ใช้ในการทำกิจกรรมดูแลสุขภาพต่างๆให้กับประชาชน ด้านหลังติดกับภูเขาเล็กๆ ชื่อ “เขาพนมขวด” จากจุดเด่นนี้ จึงเกิดเป็น เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เขาพนมขวด” ร่วมกับการดูแลสุขภาพกาย และใจ

Soft Power ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นพ.พิเชษฐ  เล่าว่า  สุขภาพ ไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาล   แต่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ซึ่งมองว่าจุดแข็งของเพชรบุรี มีเรื่องประวัติศาสตร์จำนวนมาก เป็นเมืองเก่าแก่ วัดวาอาราม  อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี(เขาวัง) เรามองเห็นความเชื่อมโยงว่า สุขภาพเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และตัวทุนทางวัฒนธรรมของเพชรบุรี ก็เป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งสุขภาวะ เป็นเรื่ององค์รวม ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม เราจะมองแบบมุมเก่าเรื่องการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมององค์รวมทั้งหมด

“ดังนั้น เราต้องการให้เกิดรูปแบบใหม่ แทนที่จะมาเพชรบุรี มาเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังได้สุขภาพที่ดีกลับไปด้วย โดยสร้างเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาวะขึ้น โดยจุดเช็กอินแรก คือ รพ.พระจอมเกล้า เพื่อตรวจสุขภาพแพคเกจต่างๆ การนวดแผนไทย นวดรักษา นวดสปาเครื่องหอมที่รพ.พัฒนาขึ้นเอง เรียกว่า กลิ่นสุขภาวัฒน์  จากนั้นก็มีเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ภายในรพ.เอง อย่างการกราบสักการะ พระบรมพุทธสารีริกธาตุขนาดน้อย 7 พระองค์ อยู่บนเขาพนมขวด และยังเป็นจุดชมวิว 360 องศา มีให้ทำเวิร์คชอปผลิตภัณฑ์สุขภาพ ดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาพ มีคลินิกการแพทย์แผนไทยองค์รวม การนวดผ่อนคลาย นวดรักษา นวดสปา เป็นต้น และอาคารเก่าของรพ.ก็จะมีการอนุรักษ์ไว้ทั้งหมด  ”

นพ.พิเชษฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รพ.ได้ร่วมกับทัวร์ต่างๆ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวก็จะเข้ามาเส้นทางสุขภาวะของ รพ.พระจอมเกล้า ซึ่งในอนาคตวางแผนว่า หากเส้นทางรถไฟเสร็จก็จะไปเชื่อมโยง เส้นทางท่องเที่ยว โดยรพ.จะเข้าไปร่วมด้วย เนื่องจากเส้นทางรถไฟอยู่ตรงข้าม กับรพ.พระจอมเกล้าพอดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพชรบุรี มีอยู่แล้ว คล้ายๆ กับที่อยุธยา ซึ่งทางรพ.ก็เข้าไปร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวพอสมควร มีชาวต่างชาติเช่นกัน โดยจะผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ของจ.เพชรบุรี

"กลุ่มลูกหว้า เป็นกลุ่มวัฒนธรรม ที่ขับเคลื่อน ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สืบสานสกุลช่าง  ที่ทำให้ เพชรบุรี มีชีวิตขึ้น ซึ่งผมได้พา รพ.พระจอมเกล้า  เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ จนเกิดแรงบันดาลใจ และ ความคิดใหม่ๆ กลายเป็น"สุขภาวัฒน์ "ขึ้นมา และช่วงหลังโควิดเริ่มซาลง ประมาณปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดและทุกภาคส่วนมีแนวคิดเปิดเมืองให้ฟื้นจากโควิด จึงจัดงาน ก้าวกันย์ปันรักษ์ ขึ้นมา โดยผสมผสาน แนวคิดหลายๆมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ได้รับความสนใจมาก ชาวเพชร เข้าร่วม 3,000 คน เป็นมิติใหม่ของการเดินเพื่อสุขภาพ" ผอ.รพ.พระจอมเกล้า กล่าว

เขาพนมขวด เส้นทางท่องเที่ยวในรพ.พระจอมเกล้า 

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “พนมขวด” ของรพ.พระจอมเกล้า เริ่มจากจุดชมวิว 360 บนยอดเขาพนมขวด ได้สักการะพระบรมพุทธสารีริกธาตุขนาดน้อย 7 พระองค์ โดย นางพรระวี วังเวงจิตต์   นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ เขตสุขภาพที่ 5 เล่าว่า เขาพนมขวดเป็นเขาลูกเล็กๆ สูงประมาณ 20 เมตร มีรูปเป็นขวดขนาดเล็กตั้งอยู่ในทุ่งนาหลวง มีตำนานว่า เขาพนมขวดนี้เป็นยอดเขากิ่ว เมื่อครั้งแผ่นดินเป็นทะเลสายน้ำแรงพัดเอายอดเขากิ่วขาดตามลำน้ำไปตกอยู่ทุ่งนาหลวง บนยอดเขามีพระเจดีย์ 1 องค์ ขนาดย่อม ๆ มีถ้ำ 1 ถ้ำ แต่ไม่ใหญ่โตเดิมท่านเจ้าอธิการวัดสระบัวได้สร้างขึ้นไว้นานแล้ว ครั้นภายหลังแล้วถูกฟ้าผ่าชำรุดไปแล้ว

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินออกมาประพาส แลทอดพระเนตรการเริ่มแรกนาหลวงในเขาพนมขวด จึงมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการปฏิสังขรณ์ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ช่างก่อปั้นพอกเพิ่มเติมให้เขื่องขึ้นกว่าเก่าแล้วได้ทรงบรรจุเอาปูชนียวัตถุ เรียกว่าพระบรมพุทธสารีริกธาตุขนาดน้อย 7 พระองค์ เป็นพระธาตุได้มาแต่เมืองลำพูนบ้าง เมืองน่านบ้าง เมืองพม่าบ้าง ในปี พ.ศ. 2403

“มีคนขึ้นมากราบสักการะพระบรมพุทธสารีริกธาตุ อยู่เรื่อยๆ บางคนต้องการมาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ แต่ทางรพ.กังวลเรื่องอันตรายช่วงกลางคืน เนื่องจากต้องเดินขึ้นบันไดมา และรายทางจะมีต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิด จึงขอให้หลีกเลี่ยงขึ้นมาช่วงค่ำมืด นอกนั้นสามารถมาสักการะได้ และด้านล่างเขาพนมขวด ยังมีถ้ำปู่ฤาษีภุชงค์นาคราชอีกเช่นกัน เรายังมีเส้นทางประวัติศาสตร์ภายในรพ. มีอาคารเก่าที่อนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม”  นางพรระวีกล่าว

สิ่งสำคัญของเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  ต้องมีการดูแลแบบสุขภาวัฒน์  เช่น ชาชงสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร ทำสมาธิบำบัดแบบพระจอมเกล้า เป็นการทำท่าบริหารที่ใช้หลักการของ ดุลยภาพบำบัด มณีเวช และหลักเส้นประธาน 10 ของแพทย์แผนไทยออกมาเป็นท่าบริหารง่ายๆ ทำได้ที่บ้านด้วยตนเอง  มีคลินิกแพทย์แผนไทย  เปิดให้บริการ ตรวจรักษา ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย นวดรักษา ประคบสมุนไพร อบสมุนไพร อยู่ไฟหลังคลอด และจ่ายยาสมุนไพร เปิดทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.00น. - 20.00น. เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.00น. – 16.00 น. และมีคลินิกพิเศษแพทย์แผนไทย  เป็นการดูแลสุขภาพแบบวิถีสุขภาวัฒน์ ใช้หลักองค์รวม ใช้สุนทรียบำบัด(บำบัดด้วยสียง) และสุคนธบำบัด (บำบัดด้วยกลิ่น) รวมกับหัตถการพิเศษ 

พวงมโหตรหอม เครื่องแขวนโบราณ

จุดไฮไลท์ คือ การทำ Work shop ดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร อย่างการทำ พวงมโหตรหอม  เป็นเครื่องแขวนโบราณที่ทำจากกระดาษสีนำมาพับและตัดเป็นรูปต่างๆ เป็นเครื่องแขวนประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้แขวนในงานมงคลเท่านั้น   โดยกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ของ รพ.พระจอมเกล้า ได้นำพวงมโหตรหอมมาหลอมรวมกับการดูแลสุขภาพโดยการบำบัดด้วยกลิ่นหรือสุคนธบำบัดและการตัดกระดาษยังเป็นการช่วยเพิ่มสมาธิฟื้นฟูและพัฒนาสมองลดภาวะเครียดในการนอนรพ.  ได้มีการนำไปใช้กับผู้ป่วยระยะประคับประคอง palliative care พบว่ามีค่าความสุขเพิ่มขึ้นหลังจากทำพวงมโหตรหอม

กลิ่นสุขภาวัฒน์ คลายเครียด

นอกจากนี้ ในเรื่องการผ่อนคลาย คลายเครียด ยังมีนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดเป็นกลุ่มเฉพาะ คือ “กลิ่นสุขภาวัฒน์”   เป็นกลิ่นที่สร้างจากผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นสร้างขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของรพ.พระจอมเกล้า..

โดย แพทย์แผนไทยประยุกต์(พทป.) ดลทิพา มณีใส แพทย์แผนไทยชำนาญการ หัวหน้างานการแพทย์แผลไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.พระจอมเกล้า กล่าวว่า  ที่ผ่านมาได้เปิดตัว "กลิ่นสุขภาวัฒน์" ขึ้น ซึ่งเป็นกลิ่นที่คุณกานต์จนาภา สถิรชวาล ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหอมและกลิ่น เป็นผู้คิดค้นกลิ่นในการทำโปรเจกต์จบปริญญาเอกเรื่องบำบัดความเครียดด้วยกลิ่น โดยสร้างกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โดยหลอมรวมจุดเด่นหรือซิกเนเจอร์ของจังหวัดเพชรบุรีเอาไว้ มีแนวคิดเพื่อให้เกิดความสุข สงบ ผ่อนคลาย

" เรามี 3 สิ่งจุดเด่นของเพชรบุรีมารวมไว้เป็นกลิ่น คือ Citrus เราใช้มะนาวแป้นเพชรบุรี , Aquatic จะเป็นน้ำทะเลทั้งสามของเพชรบุรี และ Geednote จะเป็นกลิ่นป่าแก่งกระจาน ช่วงเวลาที่เราเหยียบยอดหญ้าหลังฝนตก ส่วน Middle Note จะเป็นตัว "ดอกไม้ขาว" ให้ความรู้สึกใจดี ขอบคุณ เป็นมิตร และเป็นตัวแทนของความสุขความสบายใจ และ Base Note จะเป็น Cedarwood (ไม้) ให้ความรู้สึกมั่นคงและสงบ" พทป.ดลทิพากล่าว

พอกตาเขาพนมขวด ลดอาการปวดกระบอกตา

รพ.ได้นำกลิ่นสุขภาวัฒน์ มาใช้กับผู้ป่วยในคลินิกพิเศษสุขภาวัฒน์ รพ.พระจอมเกล้า ซึ่งปัจจุบันเรามีนวดพอกตาเขาพนมขวด ซึ่งได้ใช้กลิ่นนี้เช่นกัน ร่วมกับการนำสมุนไพรฤทธิ์เย็นมาพอกบริเวณตา เพื่อคดความร้อนบริเวณตา และทำการปรับสมดุลร่างกายด้วยท่านวดเขาพนมขวด ของรพ.พระจอมเกล้าฯ ซึ่งจะช่วยอาการปวดกระบอกตา จากอาการปวดศีรษะ ภาวะเครียด ไมเกรน โดยผู้ป่วยเกือบ 100% เมื่อใช้แล้วก็ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเพิ่งเปิดคลินิกสุขภาวัฒน์มา 4 เดือน  โดยจากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลด้วยการวัดค่าความเครียดก่อนและหลัง และค่าความเจ็บปวดก่อนและหลัง ซึ่งในปี 2567 จะเริ่มทำวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม

พทป.ดลทิพากล่าวทิ้งท้ายว่า  เพชรบุรีมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเยอะ เราก็จะเอากลิ่นสุขภาวัฒน์นี้เข้าไปส่งเสริมด้วย อย่างถนนคนเดิน กิจกรรมพื้นถิ่น ก็เชิญเราเอาตัวกลิ่นนี้ไปร่วมด้วย ส่วนกลิ่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นเท่าไร คิดว่าในระยะยาวน่าจะเป็นอิมแพคที่เติบโตไปพร้อมๆ กับการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้น

จ.เพชรบุรี นอกจากจะเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ รพ.ปูทางว่า จะเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยงเชิงสุขภาพอย่างครบวงจร น่าติดตามผลดำเนินงานว่า ประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากทำได้และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ และยังสอดคล้องกับนโยบาย 1 ใน 13 ประเด็น เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ ของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกด้วย   

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

 - ‘30 บาทรักษาทุกที่’ จ.เพชรบุรี ความท้าทายการให้บริการ ภาระงาน งบประมาณ 

รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ชู  Health  Rider จัดส่งยาถึงบ้าน ความหวังลดแออัด-ลดตึงเครียดภาระงาน