เริ่มแล้ว! “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ของขวัญปีใหม่จาก สธ. ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลตรวจรักษาโรค 7 คลินิกพื้นฐานกับแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการ เริ่มดำเนินการพร้อมกัน 4 ภาค “ลำพูน ลพบุรี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา” ให้บริการต่อเนื่องทั้งปี 67 รวม 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด
เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่โรงพยาบาลสีคิ้ว จ.นครราชสีมา นพชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด“โครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ” โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คณะผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคีเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน เข้าร่วม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น พบว่าประชาชนจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการรับบริการโดยแพทย์เฉพาะทาง ในโอกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัด โครงการพาหมอไปหาประชาชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรองโรคและความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชน โดยในวันนี้เป็นการเปิดตัวโครงการพร้อมกัน 4 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ภาคกลาง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ภาคใต้ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคอีสาน ณ โรงพยาบาลสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และจะดำเนินกิจกรรมไปตลอดปี 2567 จำนวน 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่
1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี
2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม
5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ
6.คลินิกทันตกรรม
7.คลินิกกระดูกและข้อ และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จิตอาสาและภาคประชาชน
สำหรับในส่วนของเขตสุขภาพที่ 9 มีการจัดบริการเพิ่มเติมอีก 4 คลินิก ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองความเครียด 2.คลินิกขาเทียม 3.คลินิกตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูงสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ (Echocardiogram) และ 4.คลินิกส่งเสริมการมีบุตร รวมมีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด 361 คน
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางไปเปิดอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลปากช่องนานา เป็นอาคาร 5 ชั้น ประกอบด้วย แผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรม ศัลยกรรม ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สูติ นรีเวช กุมารเวชกรรม คลินิกหู คอ จมูก คลินิกตา คลินิกโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ศูนย์บริการ Admit แบบครบวงจร แผนกตรวจสุขภาพในรูปแบบ Premium Check up แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู สามารถรองรับการให้บริการประชาชนในอำเภอปากช่องและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการ เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเพชร ช่วยทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน และความแม่นยำในการจัดการต่างๆ ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน ภายใต้แนวคิด “โรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขชั้นเลิศในเขตการท่องเที่ยว”
- 476 views