"บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" ตอบโจทย์ตรงจุดหรือไม่?

 

นายกสมาคมแพทย์ฯ เผย "บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่" ตอบโจทย์ใช้บริการได้สะดวก แต่จะให้ยั่งยืนไม่ใช่แค่การเชื่อมข้อมูล ชี้! รัฐควรลงทุนกับ "หน่วยบริการปฐมภูมิ" ทั้งงงบประมาน บุคลากร ค่าตอบแทน เพื่อเกิดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมทุกพื้นที่  

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบาย 13 ประเด็น โดยเฉพาะการยกระดับ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยการบริการพื้นฐานใกล้บ้าน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ต้องพูดถึงคือ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" ที่ขณะนี้มีการนำร่องแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่  แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส เรื่องนี้ แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมส่วนราชวิทยาลัย ตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ว่า ความพยายามของรัฐบาล รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้บัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่นั้นถือว่าเป็นเจตนาที่ดีที่ต้องการให้ประชาชนไปใช้บริการได้สะดวก

แต่วิธีการที่จะตอบสนองต่อเรื่องนี้ได้ดีไม่น่าจะอยู่เพียงการจัดทำระบบฐานข้อมูลให้เชื่อมต่อกันได้เท่านั้น เพราะหากคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการสุขภาพไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ประชาชนก็ต้องวิ่งไปรับบริการในสถานที่ที่คิดว่าบริการดีก็จะทำให้หน่วยบริการสุขภาพแห่งนั้นแออัด เช่น บริการในโรงพยาบาลใหญ่ บริการในกทม. และตัวเมืองต่างๆ ในขณะที่หน่วยบริการขนาดเล็กๆใกล้บ้าน มีคนมาใช้บริการไม่มากนัก

“บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”

แพทย์หญิงสุพัตรา กล่าวต่อว่า ภายใต้การปฏิรูประบบสุขภาพและระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่พัฒนามากกว่า 20 ปีที่ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประชาชนเข้าถึงบริการได้มีการพัฒนาระบบจัดสรรงบประมาณตามรายหัวประชาชน และจัดระบบบริการสุขภาพเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่เป็นบริการปฐมภูมิ บริการทุติยภูมิ บริการตติยภูมิ ที่เป็นบริการเฉพาะทางในโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ในระยะหลังนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า บริการเฉพาะทางด้านต่างๆในโรงพยาบาลได้รับงบประมาณสนับสนุนในสัดส่วนที่มากกว่าหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นบริการฐานรากอย่างมาก

การลงทุนด้านกำลังคนด้านงบประมาณให้แก่หน่วยบริการปฐมภูมิ อย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต.  ศูนย์บริการสุขภาพสาธารณสุข ศบส. โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก  ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่พอสมควร จึงทำให้จนถึงปัจจุบันหน่วยบริการสุขภาพ ระดับปฐมภูมิที่กระจายในระดับตำบลและอำเภอยังมีบุคลากรและงบประมาณสนับสนุนการจัดบริการไม่เพียงพอไม่มากพอที่จะเกิดคุณภาพมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียมกันทุกพื้นที่  และงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพก็เป็นงบประมาณที่น้อยมาก

ฉะนั้นหากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนไปใช้บริการสะดวกได้ทุกที่อย่างเป็นจริงและยั่งยืนก็ควรที่จะลงทุนพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างจริงจังทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้นกว่าเดิมประชาชนอยากรับบริการใกล้บ้านที่สะดวกไม่ต้องเดินทางไกลหากหน่วยบริการมีคุณภาพเท่าเทียมกัน  แพทย์หญิงสุพัตรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขอถ่ายโอนไปยัง อบจ. จำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่ได้รับสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าและรับการพัฒนาไม่มากเท่าที่ควร มีการมอบภาระงานเยอะ แต่ได้รับงบประมาณและรับการพัฒนาไม่สอดคล้องกัน เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นว่า นโยบายรัฐบาลในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 13 ข้อ เป็นภาระงานลงไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งสิ้น หากหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่าง รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขโดยเทศบาล/กทม. และคลินิกหมอครอบครัว รวมทั้งงานฝ่ายเวชกรรมสังคมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาที่เพียงพอ นโยบาย 12 ข้อก็อาจจะมีผลงานได้เพียงบางแห่งและเป็นผลงานระยะสั้นชั่วคราวเท่านั้น