รองเลขาฯ คสช. แจงสิทธิมาตรา 7 ‘พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ’ ชี้ “ข้อมูลด้านสุขภาพ” ไม่สามารถเปิดเผยได้ เว้นแต่เจ้าตัวยินยอม ทั้งยังได้รับการคุ้มครองตาม “PDPA” และคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฯ ของสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ
วันที่ 13 ม.ค. 2567 นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าทางกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ โดยการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
นพ.ปรีดา กล่าวว่า สำหรับกรณีกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ จะอยู่ในหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ที่ระบุว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า ตลอด 17 ปีของการเกิดสิทธิตามมาตรา 7 ดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมายฉบับเดียวกัน ได้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพทั้งในระดับนโยบาย การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำแนวปฏิบัติต่างๆ และการสื่อสารสังคม
ทั้งนี้ ทาง สช. ยังได้มีส่วนร่วมต่อการจัดทำและให้ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพของกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือกฎหมาย PDPA ที่มีส่วนช่วยขยายความคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัยและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“การมีสิทธิตามมาตรา 7 ทำให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิด ว่าใครจะมาขอข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยไป โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้หรือไม่ยินยอมไม่ได้ รวมถึงแพทย์ผู้รักษาก็จะเอาข้อมูลนั้นไปเปิดเผยโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมก็ไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยโดยตรง เช่น กรณีต้องส่งต่อไปรักษาและส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลอื่น ก็ส่งข้อมูลนั้นไปได้ภายใต้ความยินยอมผู้ป่วย” นพ.ปรีดา กล่าว
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในมุมของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเองก็ มีการยึดถือปฏิบัติเรื่องนี้ภายใต้ คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ที่ถูกออกประกาศเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2558 ร่วมกันระหว่างแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีการระบุสิทธิของผู้ป่วยที่สอดรับกับมาตรา 7 เอาไว้ว่า “ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอมหรือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย”
- 1051 views