กรมควบคุมโรคเปิดข้อมูลคาดการณ์โรคระบาดแน่ 3 โรค “โควิด- หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก” และอีก 12 โรคต้องเฝ้าระวัง อย่างฝีดาษวานร แม้พบในชายรักชาย แต่คนทั่วไปติดได้หากสัมผัสสารคัดหลั่งจากบาดแผล “ไวรัสซิกา” ยุงลายเป็นพาหะ หญิงตั้งครรภ์ระวัง! เสี่ยงทารกเกิดพิการ ล่าสุดยังพบอสุจิชายแพร่เชื้อเพศสัมพันธ์ได้
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวอนาคตประเทศไทยโรคและภัยสุขภาพประชาชนปี 2567 ว่า จากการสรุปสถานการณ์โรค พบว่า โรคที่คาดว่าระบาดแน่ๆ และโรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกโรคที่มีการระบาดอย่างแน่นอนในปี 2567 มีการกระจายของเชื้อโรคครอบคลุมทั้งประเทศ มี 3 โรค ได้แก่ 1.โควิด-19 2.โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก และกลุ่มสองเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 12 โรค คือ มือเท้าปาก หัด ฝีดาษวานร เมลิออยโดสิส(ไข้ดิน) ฉี่หนู ไข้หูดับ ไวรัสวิกา ชิคุนกุนยา ซิฟิลิส หนองใน เอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค
3 โรคระบาดแน่ปี 67
สำหรับโรคที่ระบาดแน่นอนในปี 2567 คือ
1.โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่หายไปไหน โดยปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วย 652,868 คน นอน รพ. 38,457 คน เสียชีวิต 848 คน และปี 2567 คาดว่าติดเชื้อไม่น้อยกว่า 649,520 คน และอาจต้องนอน รพ.จำนวน 38,672 คน และคาดว่ามีผู้เสียชีวิต 852 ราย ตัวเลขดังกล่าวคือ คาดการณ์อย่างน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อโควิด ณ วันนี้ ยังเป็นเชื้อโอไมครอน ยังไม่เปลี่ยนสายพันธุ์ ความรุนแรงยังเหมือนเดิม ประกอบกับเรามีภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่ แนวโน้มจึงยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่การติดต่อยังติดได้เช่นเดิม แม้เคยติดแล้วก็ยังติดซ้ำได้
องค์การอนามัยโลกยังให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เน้นในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง 608 เพราะมีโอกาสป่วยรุนแรง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หญิงตั้งครรภ์ ส่วนประชาชนทั่วไป หากต้องการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่แนะนำว่าคนยังไม่เคยฉีดหรือฉีดนานแล้วให้กระตุ้นเหมือนไข้หวัดใหญ่ปีละเข็ม ฟรีไม่เสียเงิน ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสถานที่เสี่ยง เช่น รพ. ตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการสงสัยหรืออาการระบบทางเดินหายใจ เรายังเฝ้าระวังเรื่องอาการรุนแรงร่วมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการติดตามเชื้อโควิดต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรคเผยวัคซีนโควิดชนิด mRNA ยังฉีดได้ตามเดิม)
2.โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกโรคที่เกิดระบาดแน่นอน โดยจะพบผู้ป่วยสูงช่วงเดือนพฤาภาคม มิถุนายนเป็นต้นไป โดยปี 2566 มีผู้ป่วย 460,325 คน เสียชีวิต 29 ราย และปี 2567 คาดว่าป่วย 346,110 คน ซึ่งการป้องกันยังแนะนำฉีดวัคซีนประจำปี 1 ครั้งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำว่าวัคซีนแต่ละปีควรจะเป็นเชื้อตัวใด ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมวัคซีนพร้อมให้กับกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้จะรับวัคซีนแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้ เพียงแต่ช่วยลดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากป่วยควรหยุดเรียน-หยุดงาน 3-7 วัน จนกว่าจะหาย สวมหน้ากาก ไม่คลุกคลีผู้ป่วยทางเดินหายใจ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง
3.ไข้เลือดออก ปี 2566 พบป่วย 156,097 คน ตาย 187 คน ส่วนปี 2567 คาดว่าป่วย 276,945 คน เสียชีวิต 280 ราย น่าจะมากกว่าปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังเกือบ 3 เท่า โดยไข้เลือดออกมีการติดเชื้อตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มสูงขึ้นช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม จะเริ่มระบาด โดยไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรง 2 ปีติดกัน การป้องกันเน้นไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้าแขนขายาว นอนในมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ คือ ไข้สูงลอย เจ็บชายโครง
“ขณะนี้ผู้เสียชีวิตเยอะสุด คือ ผู้ใหญ่ เพราะการติดเชื้อครั้งที่สองมักอาการรุนแรงมาก จากที่มี 4 สายพันธุ์ ที่สำคัญคือป่วยแล้วอย่าซื้อยาทานเอง หากมีไข้ซื้อยาพาราเซตามอลอย่างเดียวเท่านั้น อย่าคิดถึงยากลุ่มอื่น อย่างไอบูโพรเฟน เอ็นเสด สเตียรอยด์ เพราะทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่ายและเสียชีวิตได้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ระวัง! ไข้เลือดออกปี 67 หนัก! ติดเชื้อครั้งที่สองอันตราย ส่วนไวรัสซิกาพบอยู่ในอสุจินาน 3 เดือน)
12 โรคต้องเฝ้าระวังปี 67
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ส่วนโรคที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะมีการระบาด มี 12 โรค คือ 1.โรคมือเท้าปาก ปี 2566 ป่วย 64,115 ราย ตาย 1 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 61,470 ราย ซึ่งติดง่ายในเด็กเล็ก ต้องดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถม ครูต้องคอยดู หากเจอเด็กมีอาการให้หยุดเรียนอยู่บ้าน
2.โรคหัด มีวัคซีนฉีดมานาน จริงๆ ควรหมดไป แต่วันนี้ยังพบอยู่ แนวโน้มปีนี้อาจสูงกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2566 พบป่วย 611 คน ปีนี้คาดว่าป่วย 1,089 ราย เน้นรับวัคซีนป้องกันหัดให้ครบ 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงอายุ 9-12 เดือน และเข็มสองช่วงอายุ 1 ปีครึ่ง
3.โรคฝีดาษวานร เป็นโรคใหม่ของไทย โดยปี 2566 พบป่วย 689 ราย ตาย 4 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 394 ราย ข้อมูลพบว่า มักติดในกลุ่มชายรักชาย แต่คนทั่วไปก็ติดได้ หากสัมผัสสารคัดหลั่งจากบาดแผล ซึ่งโดยปกติไม่เสียชีวิต หายเองได้ แต่คนเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่ทานยาต้านไวรัส และอาจมีโรคอื่นสมทบ
4.โรคเมลิออยโดซิส (ไข้ดิน) พบตลอดปี โดยปี 2566 พบป่วน 4,092 ราย ตาย 95 ราย คาดว่าปีนี้ป่วย 3,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ดังนั้น การเข้าสวนทำไร่ทำนา ให้สวมรองเท้าบูธป้องกัน
5.โรคฉี่หนู ไทยมีน้ำท่วมทุกปี พื้นที่ระบาดคือพื้นที่มีน้ำขัง แหล่งน้ำในชุมชน โดยมีบาดแผลลงไปเล่นน้ำ เดินลุยน้ำ ทำให้ติดเชื้อ ซึ่งรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ โดยปี 2566 พบป่วน 4,327 คน ตาย 42 คน ปีนี้คาดว่าป่วย 2,800 คน ย้ำว่าต้องสวมถุงมือยาง รองเท้าบูธไม่ให้สัมผัสเชื้อ
6.โรคไข้หูดับ ปี 2566 พบป่วย 581 คน ตาย 29 คน คาดว่าปีนี้ป่วย 432 คน การป้องกัน คือ การไม่กินหมูดิบ ทำให้การได้ยินลดลง และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งเราพบว่าโรคนี้แนวโน้มไม่ได้ลดลงเลย มีแต่ทรงตัวและเพิ่มขึ้น
7.โรคไวรัสซิกา ปี 2566 สะสม 758 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 41 ราย และทารกศีรษะเล็ก 13 ราย ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน ป้องกันวิะเดียวกับไข้เลือดออก แต่เราพบว่า ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเชื้ออยู่ในเชื้ออสุจิผู้ชายได้เกือบ 3 เดือน
8.โรคชิคุนกุนยา ปี 2566 ป่วยสะสม 1,389 ราย อัตราป่วย 2.1 ต่อแสนประชากร ชายต่อหญิง 1:1.6 เกิดจากยุงลายเช่นกัน ให้เน้นป้องกันยุงลายกัด
9.โรคซิฟิลิส ปี 2566 พบป่วย 11,631 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 17,273 ราย 10.โรคหนองใน ปี 2566 พบป่วย 11,631 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 7,254 ราย ซึ่งทั้งสองโรคนี้เดิมลดลง แต่ตอนนี้พบการติดเชื้อในเยาวชนมากขึ้น โดยซิฟิลิสถ่ายทอดจากญิงตั้งครรภ์ไปสู่ลูกได้ ย้ำว่าต้องใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน มีอาการไปพบแพทย์รักษา
11.เอชไอวี/เอดส์ ดูเหมือนลดลงแต่ยังทรงตัว ทั้งปี 2566 ติดเชื้อใหม่ 9,366 ราย ตาย 10,014 ราย ทั้งนี้ เอชไอวีสามารถตรวจด้วยตนเองได้ ผลบวกไม่ต้องตกใจ มียาต้านไวรัสกินต่อเนื่องสม่ำเสมอ ช่วยมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนทั่วไป และป้องกันการแพร่โรคด้วย แม้มีเพศสัมพันธ์ และควรใช้ถุงยางอนามัย โดยทั่วโลกจะเอาเอดส์ให้หมดไปในปี 2573
12.วัณโรค ตั้งเป้าให้หมดไปในปี 2573 เช่นกัน แต่สถานการณ์ยังทรงตัวตลอด ปี 2566 ป่วย 78,824 ราย คาดว่าปีนี้ป่วย 82,759 ราย สถานการณ์เรามีผู้ป่วยทุกจังหวัด ที่น่าห่วงคือรับเชื้อแล้วไม่ได้แสดงอาการเลย อาศัย 1-2 ปีค่อยแสดงอาการ ฉะนั้น ใครเคยสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ควรไป รพ.แจ้งแพทย์ด้วย จะได้ตรวจลึกขึ้น
ไข้หูดับ โรคจากการกิน ป้องกันได้
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้ง 15 โรคที่นำเสนอ มี 3 โรคระบาดได้ และ 12 โรคเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะติดทางเดินหายใจ การสัมผัส แต่มีโรคเดียวที่อยู่ในรายการคือ "ไข้หูดับ" ที่ติดทางอาหาร แต่ป้องกันได้ ซึ่งเมื่อก่อนไทยพบน้อย แต่ตอนนี้พบบ่อยขึ้นจากภาคเหนือมาภาคกลางและอีสานที่เยอะขึ้น ประชาชนน่าจะรับรู้ว่า รับประทานหมูดิบ นำมาสู่การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การรับยินเสียงลดลง เป็นมากก็เสียชีวิตด้วย จึงต้องรับประทานสุก เลือกซื้อหมูจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องกังวลเรื่องกินหมูกระทะ เพราะเราต้องย่างให้สุก ไม่ถึงขนาดมีปนเปื้อนมากนัก ยกเว้นกินดิบหรือกินรวมหลายคนในงานพิธี นอกจากนี้ คนทำงานในโรงชำแหละสุกร อาจสัมผัสโดยตรงกับเลือด ต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนัง โดยสวมถุงมือ รองเท้าบูธ หากบังเอิญสัมผัสให้รีบทำความสะอาด
- 8475 views