สธ. - ศปถ. ร่วมเปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างแข็งขันช่วงปีใหม่ เผยตัวเลขอุบัติเหตุสะสม1,570 ครั้ง ส่วนใหญ่ดื่มแล้วขับ แนะประชาชนเตรียมความพร้อมทั้งคนทั้งรถในช่วงเดินทางกลับ
วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” (Drink Don’t Drive) ที่มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เกิดการเฝ้าระวังด้วย 3 ด่าน คือ ด่านตนเอง ด่านครอบครัว และด่านชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตั้งแต่ทั้งการตรวจร้านค้า การห้ามจำหน่ายในสถานที่ห้ามจำหน่าย และการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีการตรวจวัด ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับลดลง เกิดความสูญเสียน้อยลง แต่ยังมีเรื่องน่ากังวลที่พบว่า มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถจนบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการสืบกลับไปยังร้านค้าที่จำหน่ายเพื่อดำเนินคดี
จากรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน วันที่ 1 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 62 ราย บาดเจ็บ 422 ราย รวม 4 วัน 29 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุสะสม 1,570 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 190 ราย มีผู้บาดเจ็บ 1,574 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ กาญจนบุรี (57 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (13 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บ (Admit) สูงสุด คือ กาญจนบุรี (56 คน) ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด 37.52 % ดื่มแล้วขับ 27.64 % และทัศนวิสัยไม่ดี 17.13 % และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบมีผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มสุรา 339 คน คิดเป็นร้อยละ 13.28 ของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด
นอกจากนี้ ดำเนินการเจาะเลือดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนและบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต หากผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566–1 มกราคม 2567 ได้มีการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ ที่เกิดอุบัติเหตุตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ทั้งหมด 661 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 108 ราย พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด 98 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 9 ราย
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับเครือข่าย ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเตรียมความพร้อมรองรับ ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ซึ่งมีการออกหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน 5,839 ครั้ง และในส่วนของโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมบริการ 24 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยวิกฤต ฉุกเฉินเข้ารับการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก และในช่วงนี้จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2567 เป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหรือสถานที่ท่องเที่ยว หลังจากการเฉลิมฉลองหรือท่องเที่ยวอาจมีความเหนื่อยล้า แนะนำให้มีการเตรียมความพร้อมของยานพาหนะ รวมถึงผู้ขับขี่ควรมีการเตรียมความพร้อมของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอปฏิบัติตามกฎจราจร ขอให้สวมหมวกนิรภัย หรือคาดเข็มขัดนิรภัย ทุกครั้งที่มีการเดินทางทั้งใกล้และไกล เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เมื่อขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานสามารถพักรถได้ที่จุดบริการประชาชน จุดพักรถตลอดเส้นทาง หากมีการดื่มสุราของมึนเมา หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ง่วงซึม ควรงดการขับขี่เด็ดขาด ตามนโยบาย “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม”
หากประชาชนพบผู้บาดเจ็บจากการจราจร หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือ ได้ที่ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขอขอบคุณและขอส่งกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่เสียสละเวลา มาทำงานในช่วงวันหยุดอย่างแข็งขัน
- 184 views