“หมอจเด็จ” พร้อมเดินหน้าปรับระบบรองรับ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ปี 2567 ปฏิรูปทั้งระบบไอทีและบริการสุขภาพปฐมภูมิ เบิกจ่ายหน่วยบริการรวดเร็วขึ้นภายใน 3 วัน แม้ข้ามเครือข่าย หรือรพ.สต.ถ่ายโอนไร้ปัญหาเชื่อมข้อมูล

 

“นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เป็นการปฏิรูประบบ 2 ส่วน คือ ระบบไอที และระบบบริการปฐมภูมิ เห็นชัดสุด คือ การเบิกจ่ายเงินให้หน่วยบริการจะมีความรวดเร็วขึ้นภายใน 3 วันภายใต้เงื่อนไขการเชื่อมข้อมูลร่วมกัน...” ถ้อยคำหนึ่งของเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวขึ้นถึงนโยบายรัฐบาลกับการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะปรับโฉมระบบสุขภาพอีกครั้ง...

 

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Hfocus  มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีเลขาธิการ สปสช. กับประเด็นเตรียมพร้อมให้บริการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ทุกเครือข่าย ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ก่อนขยายเฟสสอง และทุกจังหวัดทั่วประเทศในอนาคต 

 

ไอทีทรานส์ฟอร์เมชั่น ปรับโฉมระบบข้อมูลใหม่ไร้ใบส่งตัว

ในส่วนของ สปสช. ประเด็นที่ถูกจับตามอง คือ ระบบการเบิกจ่ายให้หน่วยบริการต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยเฉพาะข้ามสังกัด จะมีความยากง่ายอย่างไร...

นพ.จเด็จ :  บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เบื้องหลังการทำงานคือการใช้ไอทีทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยข้อมูลเชื่อมโยงกันหมด ประชาชนไปไหนข้อมูลจะตามไปทุกที่ จากอดีตไม่มี จะไปรักษาที่ไหนต้องมีใบส่งตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการเบิกเงิน แต่ก็กระทบประชาชนในเรื่องการเดินทาง มีเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก  แต่ต้องย้ำว่า นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ยังมีหน่วยบริการใกล้บ้านให้บริการดูแลรักษาประชาชนเหมือนเดิม เพียงแต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่อื่นๆ และเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็สามารถรักษาสถานพยาบาลใกล้พื้นที่ที่เราอยู่ได้  

นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวฯ ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ

 

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ยังเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นการดึงหน่วยบริการอื่นๆ นอกเหนือจากโรงพยาบาล เข้ามาร่วมให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง  เช่น คลินิกเอกชนต่างๆ คลินิกเวชกรรมทั่วไป คลินิกทันตแพทย์ ซึ่งเดิมมีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ต่างจังหวัดไม่มี ปัจจุบันมีอยู่ 5,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ขณะที่ร้านยามีมากกว่า 15,000 แห่ง เดิมไม่มีการนำเข้าสู่ระบบบริการปฐมภูมิ แต่จากนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวฯ จึงได้ดึงคลินิก ร้านยาเข้ามาอยู่ในระบบด้วย เห็นชัดจากพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด  

จัดระบบเบิกจ่ายหน่วยบริการทุกสังกัด เอกชนเร็วสุดภายใน 3 วัน

*เมื่อถามว่า สปสช.สามารถจ่ายเงินให้หน่วยบริการต่างๆ อย่างเอกชน มีความรวดเร็วแค่ไหน ? 

 

นพ.จเด็จ :   เป็นความท้าทาย หากหน่วยบริการต่างๆที่เข้าร่วมมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบไอทีตามกติกา  สปสช.จะเบิกจ่ายเงินให้ได้เร็วที่สุด 3 วัน ซึ่งตัวเลขนี้มาจากช่วงสถานการณ์โควิด19 ระบาด บางบริการสามารถจ่ายได้ภายใน 3 วัน แต่ต้องภายใต้เงื่อนไข  คือ ต้องมีการเสียบบัตรประชาชน เพื่อเชื่อมข้อมูลมายังสปสช. โดยข้อมูลการเบิกจ่ายจะเหมือนกันหมดทั้งรพ.รัฐ เอกชน หรือคลินิก ร้านยา เพราะจะมีแฟ้มข้อมูลตามข้อกำหนดของสปสช. เรียกว่า 13 หรือ 16 แฟ้ม หากส่งเข้ามาก็จะเชื่อมโยงกันหมด ปัจจุบันการจะเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นเอกชนที่ทำระบบ ปัจจุบันมี 23 แห่ง ซึ่งพร้อมจะส่งข้อมูลการเบิกจ่ายให้สปสช.หมดแล้ว 

 

ย้ำหน่วยบริการต้องเสียบบัตรประชาชนคนไข้ ไม่เช่นนั้นเบิกเงินไม่ได้

 

*มั่นใจได้อย่างไรว่า ระบบการเบิกจ่ายจะไม่มีปัญหาเหมือนอดีตที่เคยมีประเด็นคลินิกเบิกจ่ายเงินเกินความจริง? 

 

นพ.จเด็จ :  มีระบบตรวจสอบ เดิมจะเป็นการตรวจหลังจ่ายเงินไปแล้ว แต่ตอนนี้ตรวจก่อนจ่าย ประกอบกับอดีตหน่วยบริการจะคีย์เลข 13 หลักของผู้ป่วย แต่ปัจจุบันกำหนดว่าต้องเสียบบัตรประชาชนเท่านั้น ซึ่งนโยบายบัตรปรชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ต้องใช้เสียบบัตรประชาชนของผู้ป่วยเป็นหลัก การจะโกงหรือส่งเจตนาไม่ดีเกี่ยวกับการเบิกจ่ายย่อมทำได้ยากมาก  เพราะผู้ป่วยต้องแสดงตนด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า หากมีหน่วยบริการใดต้องการทุจริจจริงๆ ก็ป้องกันได้ไม่ 100% 

 

“สิ่งสำคัญคือ หากหน่วยบริการไม่เสียบบัตรประชาชนผู้ป่วย ทางสปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินให้เช่นกัน..”  

 

*โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องร่วมโครงการนโยบายประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ น่าจะเป็นหน่วยบริการที่เชื่อมโยงข้อมูลได้ง่ายที่สุดหรือไม่? 

 

นพ.จเด็จ :  กระทรวงสาธารณสุขมี 2 ส่วน คือ เรื่องการเงิน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร และส่วนเรื่องการบริการ โดยทางสปสช.ก็จะมาช่วยในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการ ด้วยการสื่อสารกับทางโรงพยาบาลในเรื่องการเชื่อมข้อมูลทั้งหมด แต่ต้องอยู่ภายใต้ CyberSecurity หรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หากมีการเชื่อมข้อมูลทั้งหมดจะไม่ใช่แค่เบิกจ่าย แต่จะมีเรื่องการบริการด้วย

 

“อย่างข้อมูลการเบิกจ่ายก็จะต้องการแค่การวินิจฉัย แต่ข้อมูลการบริการ จะต้องมีภาพเอกซเรย์ด้วย ซึ่งตรงนี้จะดีต่อการบริการผู้ป่วย เช่น หากไปรักษาอีกโรงพยาบาลก็จะมีภาพเอกซเรย์ ไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก ดังนั้น การเชื่อมข้อมูลก็จะมีทั้งการเบิกจ่าย และข้อมูลบริการ เมื่อมีการเชื่อมข้อมูลกันก็จะไปอยู่บนคลาวด์ ใครอยู่ที่ไหนก็จะเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านระบบ CyberSecurity ”  

*เมื่อถามย้ำว่า การเบิกจ่ายเงินให้โรงพยาบาลสังกัด สธ. ก็จะใช้เวลา 3 วันใช่หรือไม่ 

 

นพ.จเด็จ :  ต้องอยู่ที่หน่วยบริการมีการเชื่อมข้อมูลส่งถึง สปสช.ได้เมื่อไหร่ หากได้ทันทีก็พร้อมจัดสรรเงินลงไป อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลในสังกัดสธ.บางทีระบบการบริหารต้องการให้สปสช.จ่ายเงินเป็นงวดๆ งวดละ 15 วัน เนื่องจากจะมีการลงบัญชี เป็นระบบการบริหารจัดการ แต่ในส่วนเอกชน คลินิกต่างๆ ก็จะต้องการรวดเร็วกว่านั้น ซึ่งหากส่งข้อมูลมาเร็วก็สามารถจ่ายเงินได้ภายใน 3 วัน

“จุดหลักๆ คือ การเชื่อมข้อมูลถึงกัน ไม่ใช่การส่งข้อมูล เพราะส่งข้อมูลทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ต้องเป็นการเชื่อมทั้งหมดเพื่อขึ้นสู่คลาวด์ สิ่งเหล่านี้เมื่อมีข้อมูลยืนยันจะลดปัญหาคนไข้ชอปปิ้งยา อย่างเช้าไปรับยาที่นี่ ตอนบ่ายไปรับยาอีกแห่ง ซึ่งกรณีแบบนี้เจอไม่มาก แต่ก็ต้องป้องกัน” นพ.จเด็จ กล่าว

สปสช.ใช้ระบบเบิกจ่ายทั้งเหมาจ่าย และ Fee schedule  

อย่างไรก็ตาม ส่วนการเบิกจ่ายก็จะรองรับทุกโรค โดยจะมีการเบิกจ่ายลักษณะเข้ารักษาโรคใด ก็จะได้เบิกจ่ายตามโรคนั้น ซึ่งมีการจัดระบบให้ง่ายขึ้น อย่างหากรับเป็นพื้นที่ ก็จะจ่ายเป็นเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดิม แต่กรณีคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นๆ แต่เดินทางเข้ารักษา ก็จะจ่ายที่เรียกว่า  Fee schedule  คือ จ่ายเป็นครั้งและตามบริการ  

 

ในส่วนของสปสช.  การเชื่อมข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ เพื่อเตรียมพร้อมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่  ข้ามทุกเครือข่าย ณ ขณะนี้เกิน 50-60%   และมั่นใจว่าก่อนคิกออฟวันที่ 7 มกราคม 2567 ใน 4 จังหวัด  ความพร้อมเต็ม 100%  แน่นอน  

เตรียมจนท. ‘คอนแทคเซ็นเตอร์’ ให้ข้อมูลบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

 

“สปสช.ยังเตรียมระบบแนะนำให้คำปรึกษาประชาชนที่จะใช้บริการบัตรประชาชนใบเดียว ผ่านคอนแทคเซ็นเตอร์ ทั้งสายด่วน 1330 ไลน์ไอดี @nhso  ยกระดับเจ้าหน้าที่คล้ายๆช่วงโควิด มีพยาบาลเกษียณอายุราชการประมาณ 1,000 กว่าคนมาเป็นจิตอาสาให้ข้อมูล ทั้งข้อมูลพื้นที่การให้บริการ การนัดหมายแพทย์ผ่านออนไลน์ โดยเจ้าหน้าที่จะนัดคิวการบริการแทนคนไข้  เป็นกลไกกลางอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งพยาบาลกลุ่มนี้ไม่ต้องมาทำงานในออฟฟิส ทำที่บ้านได้ แต่ต้องผ่านการอบรม ซึ่งเราพร้อมแล้ว..”  

รพ.สต.ถ่ายโอนข้ามสังกัดไม่มีปัญหา

 

*เมื่อถามว่ากรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) การเบิกจ่ายต่างๆ จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเคยภาคประชาชนเคยร้องเรียนว่ารพ.ชุมชนในกาญจนบุรีเคยเรียกใบส่งตัวจากคนไข้ เพราะข้ามเครือข่ายแล้ว...

 

นพ.จเด็จ :  มีการพูดคุยกันแล้วถึงความจำเป็นในการเชื่อมข้อมูลร่วมกัน อย่างที่เคยมีประเด็นได้มีการพูดคุยกันแล้วว่า ต้องไม่ให้กระทบประชาชน จะไม่มีการเรียกใบส่งตัว โดยทางสปสช.จะวางระบบ หากคนไข้ไปรักษามีการส่งข้อมูลมาสปสช.จะตามจ่ายให้ทันที

 

จากการพูดคุยกับนพ.จเด็จ สรุปใจความว่า ใน 4 จังหวัด(แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส)  ที่จะคิกออฟบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย เริ่ม 7 มกราคมนี้ หากประชาชนต้องรักษา รพ.ข้ามเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข  รวมถึง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วย่อมสามารถทำได้

 

พูดง่ายๆ คือ  ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องการรับบริการ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีก  ส่วนหน่วยบริการก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเช่นกัน...