คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเผยสถานการณ์โรคติดต่อและการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดได้ในปี 2567 “โควิด19 -ไข้หวัดใหญ่” ยังมา รวมถึงยังต้องระวังโรคติดต่อนำโดยแมลง ขณะที่ไอกรนพบเพิ่ม 3 จ.ชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดในปี 67 ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2566 ว่า สถานการณ์โรคติดต่อและการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดได้ในปี 2567 ดังนี้
1.โรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่
-โรคโควิด19 มาตรการป้องกันเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 ลดเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง โดยฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง 608 ตรวจ ATK เมื่อป่วย หากผลบวกไปพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กและกลุ่ม 608
-โรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำประชาชนฉีดวัคซีนประจำปี ลดติดเชื้อ ลดเสี่ยงปอดอักเสบ โดยขยายฉีดวัคซีนในเด็ก 6 เดือน - 5 ปี หากมีไข้สูง หอบเหนื่อย รีบพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
2.โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา
สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัย 3 โรคนี้ ให้แพทย์สั่งจ่ายยาทากันยุง จัดกิจกรรมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หากสงสัยไข้เลือดออก โดยเฉพาะผู้ใหญ่รีบพบแพทย์ และงดทานยา NSAID ลดเสี่ยงภาวะแทรกช้อน สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นหญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันการถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
นอกจากนี้ ยังคงเฝ้าระวังและให้คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรคฝีดาษวานร เอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยย้ำกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง หากสงสัยป่วยให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งปัจจุบันมียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเสี่ยงต่อป่วยรุนแรง ส่วนโรคหัด เน้นการสื่อสารให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน MMR ให้ครบ 2 เข็มในเด็กอายุ 9 เดือน (เข็มที่ 1) และอายุ2 ปีครึ่ง - 4 ปี (เข็มที่ 2)
ไอกรน พบเพิ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้
ส่วนสถานการณ์โรคไอกรนที่เพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พบผู้ป่วยยืนยันรวม 229 ราย จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนไอกรนในเด็กอายุ 2 เดือน– ต่ำกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน และในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ ให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนก่อนถึงระยะเวลาที่สามารถรับวัคซีนได้
ข่าวเกี่ยวข้อง : ปี 2566 กรมควบคุมโรค สรุป 3 อันดับแรกโรคระบาดมากที่สุด
- 8640 views