กองวัณโรค กรมควบคุมโรค   จับมือกับ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมสถาบันโรคทรวงอก สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และบริษัทฟูจิฟิล์ม จัดกิจกรรมรณรงค์ “ยุติวัณโรค เราทำได้”  เนื่องในวันวัณโรคสากล เร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรค และวัณโรคระยะแฝง  ใช้รถเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ ตรวจวิเคราะห์ด้วยAI เดนิหน้ายุติวัณโรค ในปี 2578

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่สมาคมปราบวัณโรคฯ พหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์เกียรติยศ  นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อรรถ นานา นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคฯ  นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค  ผู้อำนวยการกองวัณโรค  ผู้แทนสถาบันโรคทรวงอก  ผู้แทนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร  และภาคีเครือข่ายแห่งการยุติวัณโรคทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “ยุติวัณโรค เราทำได้” เนื่องในวันวัณโรคสากล ประจำปี 2567

วัณโรค ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย ยังมีผู้เสียชีวิตทุกวัน

ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานในพิธี กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นนักฆ่าที่อันตราย โดยในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 4,000 คน และเกือบ 30,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรคในทุกๆ วัน ส่วนประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 รายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทั้งที่โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาได้

ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม กล่าวต่อ ในนามสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด และได้สืบสานงานด้านยุติวัณโรคตามพระราชปณิธาน ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ในภารกิจการดำเนินงานต่อต้านวัณโรค โดยสนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข และองค์กรอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการรักษา ควบคุม ป้องกัน และกำจัดวัณโรคให้หมดไป โดยสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิธีการปฏิบัติที่ตั้งไว้ คือ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยวัณโรค  2) ร่วมมือในด้านสาธารณสุขป้องกันและควบคุมวัณโรค  3) ร่วมมือในการวิจัยเรื่องวัณโรค และเผยแพร่ความรู้เรื่องวัณโรคให้แก่กลุ่มสหวิชาชีพต่างๆ  4) ส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การสุขศึกษา ความรอบรู้เรื่องวัณโรคให้แก่ประชาชน และ 5) ปฏิบัติการอื่นๆ อันจะพึงบังเกิดคุณประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ

24 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันวัณโรคโลก”

ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อรรถ นานา นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันวัณโรคโลก (World TB Day) องค์การอนามัยโลกกับสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้เราช่วยกันรณรงค์ร่วมกันต่อต้านวัณโรค และย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก และทุกๆ ปี สมาคมปราบวัณโรคฯ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวัณโรคสากลขึ้น

จัดกิจกรรมรถเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ ตรวจวิเคราะห์ด้วยAI

สำหรับปี 2567 นี้ สมาคมปราบวัณโรคฯ และกองวัณโรค กรมควบคุมโรค สถาบันโรคทรวงอก สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และบริษัทฟูจิฟิล์ม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “ยุติวัณโรค เราทำได้” เนื่องในวันวัณโรคสากล ประจำปี 2567 ขึ้น ในวันที่ 21 มีนาคม 2567 นี้ ณ โรงพยาบาลประสานมิตรสมาคมปราบวัณโรคฯ ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมบริการเอกซเรย์ โดยรถเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ และ Ultra-portable X-ray พร้อมวิเคราะห์ผลด้วยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ AI ตรวจเสมหะ ด้วยเทคนิคทางโมเลกุล ระดับอนูชีววิทยา (Xpert MTB/RIF assay) ตรวจสุขภาพต่างๆ ได้แก่ ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจวัดดัชนีมวลกาย (BMI) วัดความดันโลหิต และบริการให้ความรู้เรื่องวัณโรคให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และประชาชนผู้สนใจ

         

ชูเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา ช่วยหมอทำงานคล่องตัว

แพทย์หญิงผลิน กมลวันท์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ กล่าวว่า แม้วงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกมีความพยายามที่จะยุติวัณโรค ด้วยการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถดำเนินการไปตามเป้าหมาย เนื่องด้วยผู้ป่วยวัณโรคไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น การเร่งตรวจหาผู้ป่วยวัณโรคเพื่อเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว จึงถือเป็นมาตรการสำคัญที่ใช้ต่อสู้กับปัญหาวัณโรคในไทย โดยเน้นการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มเสี่ยง ด้วยวิธีเอกซเรย์ปอดเพื่อคัดกรองเบื้องต้น หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าจะนำไปสู่การเป็นวัณโรค ก็จะถูกส่งตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลอีก

ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จึงมีการคิดค้นเพื่อเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพขึ้น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา FDR Xair เป็นกล้องขนาดเล็ก กะทัดรัด ช่วยให้การทำงานของทีมแพทย์มีความคล่องตัว รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเสี่ยง โดยทำงานร่วมกับระบบประมวลผล AI ตอบโจทย์ระบบการคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุก ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจลง และอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองวัณโรคมากขึ้น

         

กองวัณโรค ชู 5 ยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายยุติวัณโรคปี 2578

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวปิดท้าย กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค โดยกองวัณโรค เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี พ.ศ. 2578 โดยจะเน้น 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1) เร่งรัดการค้นหาและวินิจฉัย ผู้วัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา  2) ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา  3) เร่งรัดวินิจฉัยและรักษาวัณโรคระยะแฝง  4) เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค และ  5) ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมด้านวัณโรค ทั้งหมดนี้เราสามารถทำได้ นำมาซึ่งความหวัง และต่อยอดความสำเร็จ แต่ถึงอย่างไรอัตราการเกิดวัณโรคของประเทศไทยก็ยังไม่ลดน้อยลงเลย

 ดังนั้น เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายการยุติวัณโรคของแผนปฏิบัติการระดับชาตินั้น พวกเราภาคีเครือข่าย หน่วยงานทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ภาคมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป รวมไปถึงสื่อมวลชน ต้องร่วมมือกันทุกวิถีทาง เพื่อยุติวัณโรค อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด (Vision) คือ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” ต่อไป ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร 0 2212 2279 เพจ Facebook กองวัณโรค หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422