สป.สธ. ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด- ผู้ตรวจกระทรวงฯ เขตสุขภาพที่ 1-12 แจง ‘7 แนวทาง’ บริหารกรอบอัตรากำลังคนสาธารณสุข ปี 67-69 เริ่มใช้ 9 ก.พ.67 เป็นต้นไป  ย้ำ! พิจารณาปรับลดกรอบอัตรากำลังสายงานตามภาระงานจริง  หากคนเกินกว่างานให้เกลี่ยไปยังหน่วยงานอื่นภายในเขตสุขภาพที่มีความต้องการหรือจำเป็นแทน

 

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1-12 และผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-12  เรื่อง แนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ.2567-2569  ลงนามโดย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ใจความสำคัญระบุถึง สำนักงานปลัดกระทรวงฯ แจ้งแนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาคฯ โดยให้เขตสุขภาพทดลองใช้ในการวางแผนและลริหารจัดการกำลังคนของเขตสุขภาพไม่เกินร้อยละ 85 ของกรอบอัตรากำลังภาพรวมเขตสุขภาพเป็นระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับการบริหารกรอบอัตรากำลังปีพ.ศ.2567-2569 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ให้บริหารจัดการในภาพรวมรายสายงาน รายเขตสุขภาพ ภายใต้กรอบอัตรากำลังที่ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกินกรอบภาพรวมเขตสุขภาพ ให้เขตสุขภาพแจ้งเหตุผลความจำเป็น ผ่านความเห็นชอบจากผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เสนอสำนักงานปลัดฯ พิจารณาต่อไปนั้น

โดยสำนักงานปลัดกระทรวงฯ  ขอแจ้งแนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาคสังกัดฯ  ปี พ.ศ. 2567 – 2569 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์  2567 เป็นต้นไป ว่าให้บริหารจัดการในภาพรวมสายงาน เขตสุขภาพ ภายใต้กรอบอัตรากำลังที่ อ.ก.พ.สธ. เห็นชอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการกำลังคนให้เหมาะสมในภาพรวมเขตสุขภาพ และให้เขตสุขภาพบันทึกข้อมูล ส่ง สำนักงานปลัดฯ ภายในวันที่ 12 มกราคม  2567 เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามแนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังต่อไป

รายละเอียด 7 แนวทางบริหารกรอบอัตรากำลังคนสาธารณสุข ปี 67-69

ทั้งนี้ แนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังปี พ.ศ. 2567-2569  ดังนี้

1. กรอบอัตรากำลัง ปี พ.ศ. 2567 – 2569 ไม่รวมกรอบอัตรากำลังของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566  ทั้งนี้  หากมีผู้ปฏิบัติหรือตำแหน่งปรากฎในหน่วยงานที่มีการถ่ายโอน (2 ต.ค. 2566) ให้กำหนดกรอบอัตรากำลังเฉพาะหน่วยงานที่ยังไม่มีการถ่ายโอน

2. บริหารกรอบอัตรากำลังภาพรวมเขตสุขภาพทุกสายงานไม่เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกรอบอัตรากำลังคงเหลือ ให้ผู้ตรวจราชการ สธ. สงวนไว้เพื่อบริหารจัดการในภาพรวมของเขตสุขภาพต่อไป

3. กรณีหน่วยงานมีผู้ปฏิบัติงานเกินกรอบอัตรากำลัง ให้หน่วยงานจัดทำแผนความต้องการกรอบอัตรากำลังในแต่ละสายงาน โดยปรับเพิ่มหรือลดกรอบอัตรากำลังตามภาระงานที่มีจริง ส่งให้เขตสุขภาพพิจารณาในภาพรวมเพื่อเกลี่ยกรอบอัตรากำลังให้หน่วยงานภายในเขตสุขภาพตามภาระงานที่มีจริงตามโครงสร้าง โดยไม่เกินกรอบภาพรวมรายสายงาน

ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วมีผู้ปฎิบัติงานเกินกว่าภาระงาน ให้หน่วยงานพิจารณาปรับลดกรอบอัตรากำลังสายงานนั้นตามภาระงานจริง และให้เขตสุขภาพพิจารณาเกลี่ยผู้ปฏิบัติงานไปยังหน่วยงานอื่นภายในเขตสุขภาพที่มีความต้องการหรือจำเป็นตามภาระงาน หรือให้หน่วยงานคงผู้ปฏิบัติงานไว้ที่เดิมจนกว่าผู้ครองตำแหน่งเดิมพ้นไป หากผู้ครองตำแหน่งเดิมพ้นไปไม่ให้สรรหาบุคคลมาทดแทนในตำแหน่งว่างนั้น และให้เกลี่ยตำแหน่งออกไปยังหน่วยงานที่มีภาระงาน

4. กรณีหน่วยงานไม่กำหนดกรอบอัตรากำลังแต่มีผู้ปฏิบัติจริง ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นส่งไปให้เขตสุขภาพเพื่อรวบรวมเสนอไปยัง สป.สธ. พิจารณาต่อไป โดยการกำหนดกรอบอัตรากำลังจะต้องคำนึงถึงภาระงาน หรือแผนการให้บริการในอนาคต หากไม่มีการกำหนดกรอบอัตรากำลังไว้จะไม่สามารถกำหนดให้มีตำแหน่งหรือผู้ปฏิบัติงานได้

5. กรณีหน่วยงานที่มีผู้ปฏิบัติหรือตำแหน่งไม่ตรงตามโครงสร้าง ให้กำหนดกรอบอัตรากำลังเฉพาะที่ตรงตามโครงสร้างเท่านั้น และให้หน่วยงานพิจารณาเกลี่ยผู้ปฏิบัติหรือตำแหน่งว่างให้ตรงตามโครงสร้าง หรือเปลี่ยนสายงานเป็นสายงานอื่นที่มีความจำเป็นตามภารกิจและตามโครงสร้างของหน่วยงาน โดยให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด แผนการเปลี่ยนสายงาน และต้องไม่เกินกรอบอัตรากำลังในภาพรวมหน่วยงาน

6. กรณีที่หน่วยงานเปิดใหม่/ยกฐานะ จัดตั้งกลุ่มงาน/เพิ่มสายงานในโครงสร้าง ให้หน่วยงานพิจารณาเกลี่ยกรอบอัตรากำลังภาพรวมภายในหน่วยงาน หากไม่เพียงพอกับภาระงานให้จัดทำแผนขอรับจัดสรรกรอบอัตรากำลัง โดยให้เขตสุขภาพพิจารณาในภาพรวมเพื่อจัดสรรกรอบอัตรากำลังตามภาระงานจริงและต้องไม่เกินกรอบอัตรากำลังในภาพรรมของเขตสุขภาพ

7. กรณีเขตสุขภาพมีความจำเป็นขอใช้กรอบอัตรากำลังภาพรวมรายสายงาน เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ให้เขตสุขภาพยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลความจำเป็นไปที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาต่อไป โดยจะต้องไม่เกินกรอบอัตรากำลังภาพรวมทุกสายงาน