รมว.สาธารณสุข ชูแนวทาง 3 D  “Drink  Don’t Drive”  ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ แม้ไม่ถึงอเมริกาดื่มด้วยความรับผิดชอบ หากขรก.ทำผิดต้องลาออก ส่วนไทยยังทำไม่ได้ ต้องมีกฎหมายรองรับ ด้านปลัดสธ.สั่งรพ.จัดบุคลากรขึ้นเวรเพิ่มช่วงเทศกาล ประสานตำรวจดูแลเหตุทะเลาะวิวาท ด้าน สตช.เผยหมอเจาะเลือดคนเมาแล้วขับตามคำร้องตำรวจ พร้อมเบิกเงิน สภ.ทั่วประเทศได้  ใครเมาแล้วขับซ้ำซาก เสนออัยการเพิ่มโทษ พร้อมขยายผลขายเหล้าเด็กต่ำกว่า 18 ปี เอาผิดพ.ร.บ.เด็ก

 

เตือนอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ ลดเมาแล้วขับ

เมื่อวันที่  21 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมตำรวจและหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ 3 D “Drink  Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ  

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 (29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) ที่ผ่านมา สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 2,437 ราย และ ผู้เสียชีวิต 317 ราย ที่น่าตกใจ คือ ในจำนวนคดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า ร้อยละ 96 หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จนถึงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2566) ก็เช่นเดียวกัน มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากถึง 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก

 

ชู 3 D  “Drink  Don’t Drive”  แม้ไม่ถึงอเมริกาดื่มด้วยความรับผิดชอบ  

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล เฉลี่ยปีละ 25,799 ราย เฉลี่ยวันละ 3,685 ราย และคาดการณ์ว่าปีใหม่ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีนับจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายรณรงค์ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ลงให้ได้ มากที่สุด เพื่อลดความสูญเสียบนท้องถนน โดยกำหนดแคมเปญ 3 D คือ “Drink  Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ในการรณรงค์ร่วมกับทุกภาคส่วน  ซึ่งจริงๆสิ่งสำคัญคือ ต้องมีความรับผิดชอบ อย่างในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า  “ดื่มด้วยความรับผิดชอบ”  ซึ่งต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง เช่น หากเป็นข้าราชการ หากเมาแล้วขับ อาจต้องถึงขั้นออกจากราชการ  ทางเกาหลีก็เช่นกัน ของไทยคือ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เป็นเป้าหมายที่รณรงค์ในปีนี้

“นอกจากนี้ สธ.ยังเตรียมผลิตภัณฑ์ของกระทรวงไม่ว่าจะเป็นยาอม ยาดม ยาหม่อง ช่วยอาการง่วงนอนในขณะขับรถจำนวน 3 แสนชิ้น มอบเป็นของขวัญเล็กๆน้อยๆ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่มีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะลดอุบัติเหตุลงให้ได้อย่างน้อย 5% จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน” รมว.สาธารณสุขกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีไทยจะนำร่องข้าราชการกระทรวงฯหากเมาแล้วขับ จะลงโทษทางวินัยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงนำร่องไม่ได้ เพราะการจะปฏิบัติอะไรต้องมีกฎหมายมารองรับ จะใช้อำเภอใจไปลงโทษใครย่อมไม่ได้ คิดเอาเอง แม้จะดีก็ทำไม่ได้ หากจะมีก็ต้องไปแก้กฎหมาย แก้ระเบียบเกี่ยวข้อง  

สธ.ตั้งอีโอซีรับปีใหม่ ทั้งส่วนกลางและจังหวัด ทำงานตลอด 24 ชม.

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อม สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ทั้งในส่วนกลางและจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางเรือ  นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว  และในกรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

 

สั่ง รพ.จัดบุคลากรขึ้นเวรเพิ่มช่วงเทศกาล ประสานตำรวจดูแลเหตุทะเลาะวิวาทใน รพ.

นอกจากนี้ ยังให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรที่อยู่เวรจากปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ให้มีการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งให้ทุกสถานพยาบาลประสานตำรวจท้องที่มาตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะๆ ป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม      

              

ใครเมาแล้วขับซ้ำซากจ่อเพิ่มโทษ พร้อมขยายผลขายเหล้าเด็กต่ำกว่า 18 ปี เอาผิดพ.ร.บ.เด็ก

พ.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมเครื่องมือต่างๆ อย่างเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ตามจุดต่างๆ รวมไปถึงได้ประสานผู้นำชุมชน อสม. และฝ่ายสาธารณสุขในการบูรณาการทำงานร่วมกัน และตรวจจุดเสี่ยง สถานที่เสี่ยง บุคคลเสี่ยงเรื่องเมาแล้วขับ โดยจะให้ผู้นำชุมชนไปตักเตือน รวมไปถึงร้านค้าเสี่ยงที่เคยขายเครื่องดื่มแอลอฮอล์ให้เด็ก เป็นต้น รวมไปถึงยังมีมาตรการต่างๆ อย่างเพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับ หากมีความผิดซ้ำ จะเสนออัยการเพื่อฟ้องต่อศาลในการเพิ่มโทษต่อไป และในส่วนขยายผลกรณีเมาแล้วขับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต่ำกว่า 20 ปี จะมีการดำเนินการว่ามีร้านค้าปลีกการจำหน่ายด้วยหรือไม่ ให้เป็นตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีก็จะดำเนินการเรื่องการชักจูงให้เด็กดื่มสุรา ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ

แพทย์เจาะเลือดคนเมาหรืออุบัติเหตุตามคำร้องตำรวจได้ พร้อมเบิกงบจากสภ.ทั่วประเทศ

“ส่วนเรื่องปัญหาความรุนแรง การทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เน้นย้ำเรื่องนี้ให้มีช่องทางในการติดต่อระหว่าง รพ.และสถานีตำรวจในพื้นที่แบบฮอตไลน์ สายตรงประสานงาน ให้สายตรวจออกตรวจกลางคืน และหากมีเหตุการณ์แบบนี้ต้องดำเนินคดีเด็ดขาด ส่วนการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด มีพ.ร.บ.จราจรฯ ให้แพทย์เจาะเลือดผู้สงสัยเมาแล้วขับหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยคำร้องขอของตำรวจ ซึ่งจะมีหนังสือไปยังรพ. และค่าเจาะเลือดได้รับงบประมาณรัฐบาล โดยกระจายไปยังตำรวจภูธรจังหวัด ซึ่งสาธารณสุขสามารถไปเบิกได้ทางตำรวจภูธรจังหวัด ” พ.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาตำรวจดำเนินคดีกับความรุนแรงในรพ.มากน้อยแค่ไหน พ.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวว่า เหตุความรุนแรงในรพ.นั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีได้ทุกราย และดำเนินคดีที่ส่งผลทางอาญา โดยหลักการแม้ภาวะสงครามยังไม่กระทบต่อรพ.เลย ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องดำเนินคดีถึงที่สุด จริงๆ ตลอด 7 วันมากกว่า 7 วันด้วย ทางตำรวจไม่ได้พัก “ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามตาย” ดำเนินการทำงานตลอดเวลา

ปลัดสธ.เผยแนวทางดูแลบุคลากรป้องกันทะเลาะวิวาท

ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากความร่วมมือกับตำรวจป้องกันความรุนแรงในรพ. ทางสธ.มีแนวทางอย่างไรดูแลบุลคลากรของตนอย่างไร  นพ.โอภาส กล่าวว่า 1.มีการปรับโครงสร้าง ห้องฉุกเฉิน มีประตู 2 ชั้น 2.เรื่องของเจ้าหน้าที่รปภ.ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงเทศกาล และ 3.การสื่อสารกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประสานกันตลอด มีการเตือนภัยอย่างรวดเร็ว กดปุ๊ปถึงปั๊บ ตำรวจมาถึงทันที และจะมีสายตรวจเยี่ยมเป็นระยะ อย่างบางที่เกิดเหตุบ่อยก็มาครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าไม่เกิดเหตุบ่อยจะมารอบละ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ขออย่าให้เกิดเรื่องเป็นดีที่สุด เพราะทางรพ.ทุกแห่ง มีกล้องวงจรปิด ดังนั้น หลักฐานครบถ้วน ไม่รอดแน่นอน

 

สสส.เผยดื่มแล้วขับ สาเหตุหลักอุบัติเหตุทางถนน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน สสส.ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายเน้นย้ำรณรงค์ปีใหม่ 2567 ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง และ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เข้มข้นดูแลพี่น้องประชาชนสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ลดความสูญเสีย ดูแลพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และหนุนเสริมอำเภอเสี่ยงกว่า 200 อำเภอ วางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ลดพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มีมาตรการสำคัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 1. ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง 2.ห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และไม่อนุญาตให้เด็ก และเยาวชนใช้บริการในสถานบริการ 3. หากพบเด็กและเยาวชนเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขอให้มีการติดตามไปถึงร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์

“สสส. ผลิตสื่อรณรงค์สปอตโฆษณา 2 เรื่อง และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ: ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เรื่องที่ 1 “สมองช้า” แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมอง ตอบสนองช้าลง สปอตเรื่องที่ 2 กะระยะง่ายๆ พลาด ที่สื่อสารว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมอง ทำให้กะระยะในการขับขี่ผิดพลาด และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ชื่อเรื่อง The Loop หากยังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้อาจมีจุดจบเหมือนในหนังโฆษณา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงปีใหม่ ดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ปีใหม่นี้อย่างมีความสุข และปลอดภัย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว