สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เผยกรณีลูกชาย รมต.ช่วย มาแล้วขับ ไม่เกี่ยวข้องตำแหน่ง ขอเพียงไม่เลือกปฏิบัติ ชี้เป็นเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนได้ด้วยกฎหมาย ต้องเพิ่มบทลงโทษ ตัด “รอลงอาญา” เผยสร้างจิตสำนึกทำได้ 5-10% หวังว่าปรับครม.จะไม่มีผลต่อการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุมน้ำเมาฉบับ สธ.เพราะเข้มแข็ง ไม่เอื้อธุรกิจน้ำเมา  

 

จากกรณีลูกชายรมต.ช่วยกระทรวงหนึ่งขับรถเมาแล้วขับ พยายามฝ่าแผงกั้นตำรวจ กระทั่งล่าสุด “นายสันติ พร้อมพัฒน์” ให้ข่าวกับรายงานเที่ยงวันทันเหตุการณ์ทางช่อง 3 ว่า ไม่ทราบเรื่อง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น

เมาแล้วขับ ไม่เกี่ยวข้องตำแหน่ง ขอเพียงไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายธีระ วัชรปราณี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกประเด็น โดยประการแรก คือ  พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับใครเป็นตำแหน่งอะไร  หรือเกี่ยวข้องกับใคร  ซึ่งเรื่องของพฤติกรรม พบได้โดยทั่วไปในสังคม แม้จะมีการรณรงค์ มีการใช้กฎหมายต่างๆอย่างต่อเนื่องเป็นสิบๆปี แต่ พฤติกรรมแบบนี้ยังพบได้ เหตุเพราะไม่เกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงมี 3 ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมาแล้วขับได้ ดังนี้

1. การดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ การตั้งด่าน ตรงจุดนี้ยังให้ความสำคัญน้อย ทั้งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์การตรวจวัดต่างๆ อย่างสถิติการตรวจวัดแอลกอฮอล์ยังมีสัดส่วนต่ำมาก หากสามารถแก้ไขจนทำให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า ถ้าเมาเมื่อไหร่ต้องถูกตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน ก็จะทำให้ระมัดระวังขึ้น แต่ที่ผ่านมาคิดว่าไม่ถูกตรวจ จึงยังขับรถทั้งที่เมาอยู่ 

2.เมื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์พบว่า มีค่าสูงเกินมาตฐาน ผิดกฎหมาย จนถึงขั้นดำเนินคดี หรือแม้แต่เกิดอุบัติเหตุแล้ว เรามักจะพบการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตรงนี้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ให้ทุกคนต้องตรวจ 

3. สุดท้ายเมื่อมาถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีก็จะเป็นการรอลงอาญา ซึ่งควรมีการปรับกฎหมาย บทลงโทษให้มากขึ้น ไม่ต้องรอลงอาญาอีกต่อไป

“จริงๆอยากเรียกร้องประเด็นบทลงโทษ ดื่มแล้วขับ เหมือนกรณีเคสนี้ ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งโทษเหลือรอลงอาญา  แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการปรับบทลงโทษให้ติดคุก เนื่องจากมีเจตนาเล็งเห็นผล เพราะดื่มแล้วขับ ย่อมมีโอกาสไปทำร้ายคนอื่น แบบนี้ไม่ใช่ประมาท เพราะคุณเจตนาแล้วว่าจะขับ ทั้งที่เมา ดังนั้น เมื่อตรวจจับเจอว่า เมาแล้วขับ ต้องไม่ลงโทษลักษณะประมาท” นายธีระ กล่าว

นายธีระ กล่าวอีกว่า หากทั้ง 3 อย่างรณรงค์อย่างเข้มแข็งก็จะดีขึ้นเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว การสร้างจิตสำนึกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยกฎหมายที่เข้มแข็งจริงๆ การสร้างจิตสำนึกที่ทำได้จริงไม่น่าเกิน 5-10%  แต่กฎหมายจะสร้างจิตสำนึกประชาชนโดยรวมได้ 100%  แต่อย่างกฎหมายก็ต้องบังคับใช้จริงจังด้วย ซึ่งเชื่อว่า ประเทศไทยทำได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่หากผู้นำประเทศ นักการเมือง จริงจังกับเรื่องนี้ทุกอย่างย่อมทำได้

เห็นใจ รมช  เป็นบทเรียนของทุกครอบครัว ขอให้ดูโครงสร้างใหญ่ แก้ตรงจุด

เมื่อถามว่า ประเด็นที่ลูกชายรมต.ช่วย กระทำเองนั้น จะส่งผลต่อการรณรงค์ของสธ. เพราะคนจะไม่เชื่อถือหรือไม่ นายธีระ กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นใจรมช.สาธารณสุข  เพราะคงไม่อยากให้เกิดขึ้น แบบนี้เป็นโจทย์ของครอบครัว ความเป็นพ่อ ความเป็นรมต เป็นบทเรียนให้กับทุกครอบครัว ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะก็พึงเป็นตัวอย่าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องครอบครัวด้วย และคิดว่าไปดูโครงสร้างปัญหาใหญ่ดีกว่า และการบังคับใช้กฎหมายก็ อย่าเลือกปฏิบัติ

“ผมมองว่า ประเด็นอยู่ที่การรอลงอาญา คนทั่วไปก็จะทำผิดซ้ำได้ ดังนั้น ต้องแก้พรบ.จราจรฯ เพิ่มโทษจาก 10 ปี เป็น 12 ปี หากเพิ่มขึ้น ศาลก็จะลงโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 6 ปี ก็จะไม่รอลงอาญา เพราะทางคดีเกิน 5 ปี จะไม่รอลงอาญา” นายธีระ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีเมาแล้วขับ ถือเป็นสาเหตุที่เราสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่เอื้อนายทุนหรือไม่ นายธีระ กล่าวว่า ใช่  เป็นสาเหตุที่ไม่ควรปรับกฎหมายให้เอื้อธุรกิจน้ำเมา  เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้เรื่องลดราคา หรือลดแลกแจกแถม  เพื่อเพิ่มการดื่ม เป็นการจูงใจเกิดนักดื่มเพิ่มขึ้น  และยิ่งไม่มีมาตรการเข้มอย่างที่ตนกล่าวข้างต้น การกระตุ้นนักดื่ม ก็ยิ่งทำให้คนเมาออกสู่ถนนมากขึ้นกว่าเดิม  ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ และหวังว่าการปรับครม.ครั้งนี้ จะไม่ส่งผลต่อทิศทางความเข้มแข็งของกฎหมาย โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับกระทรวงสาธารณสุข