รมช.สาธารณสุข ประชุมติดตามความก้าวหน้านโยบายกระทรวงสาธารณสุข เผยความพร้อมบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อมโยงข้อมูล รพ. 4 จังหวัดนำร่องครบ 100% ยืนยันตัวตน Health ID เรียบร้อย บุคลากร ทั้งหมอ ทันตแพทย์ เภสัชฯ นักเทคนิคการแพทย์มีลายมืออิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 5 พันคน พร้อมคัดกรองมะเร็งตับกลุ่มเสี่ยง 1 แสนคนใน 100 วัน
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6/2566 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและ Quick Win อย่างเรื่องดิจิทัลสุขภาพ นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ทุกเครือข่าย มีความคืบหน้าใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ มีการยืนยันตัวตน (Health ID) แล้ว 1 แสนคน เพชรบุรี 1.8 แสนคน ร้อยเอ็ด 3.41 แสนคน และนราธิวาส 1.51 แสนคน โดยบุคลากรที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 4 จังหวัด รวมกว่า 5 พันคน ได้แก่ แพทย์ 4,058 คน ทันตแพทย์ 227 คน เภสัชกร 489 คน และเทคนิคการแพทย์ 424 คน
ทั้งนี้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนของทั้ง 4 จังหวัด นำร่อง ครบ 100% แล้ว พร้อมทั้งพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งระบบแจ้งเตือนเมื่อพบภัยคุกคาม การให้คำปรึกษาเมื่อเกิดเหตุ ระบบเฝ้าระวัง และการกู้คืนระบบ
อย่างเรื่องการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด มีการจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” แล้ว 46 จังหวัด รวมโรงพยาบาล 76 แห่ง จำนวน 1,333 เตียง แบ่งเป็น การดูแลระยะกลาง (Intermediate Care :IMC) 42 แห่ง ดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) 19 แห่ง และดูแลทั้งระยะกลางและระยะยาว 15 แห่ง ส่วนหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดมีการเปิดครบ 77 จังหวัดแล้ว รวม 7,796 เตียง เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,407 เตียง กรมสุขภาพจิต 4,428 เตียง กรมการแพทย์ 1,840 เตียง และในกรุงเทพมหานคร 121 เตียง และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง 755 แห่ง
ด้านสถานชีวาภิบาล ได้สำรวจความพร้อมการจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 143 แห่ง ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ พร้อมจัดทำเอกสารคู่มือ รวมถึงจะมีการศึกษาดูงานและถอดบทเรียนสถานชีวาภิบาลบ้านพักกลางโองโมงประชารัฐอนุเคราะห์ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่อื่นต่อไป และ 4.ประเด็นมะเร็งครบวงจร สามารถฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี ได้เกินเป้าหมาย 1 ล้านโดสก่อนกำหนด 100 วัน ซึ่งจะมีการจัดหาวัคซีนสำหรับฉีดเป็นเข็มที่สองในปีต่อไป ส่วนโรคมะเร็งตับ จะเดินหน้าคัดกรองและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีในกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 และกลุ่มเสี่ยง โดยมีเป้าหมาย 100 วัน จำนวน 1 แสนคน และคัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2567
- 261 views