กรมควบคุมโรคร่วมมือกับ สภากาชาดไทย และเนคเทค พร้อมภาคีเครือข่าย 5 จังหวัดนำร่องต่อยอดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอัตลักษณ์บุคคลแรงงานต่างด้าวแล้ว 8,619 คน โดยเมียนมาสูงสุด 80% รองลงมาคือ กัมพูชา และลาว ตั้งเป้าขยายความครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดนำร่องเดิม หวังเชื่อมต่อข้อมูลติดตามการฉีดวัคซีน และรักษาโรคเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางสุขภาพดิจิทัล (digital health) นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้รับผิดชอบงานสุขภาพแรงงานข้ามชาติจาก 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ตาก ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร รวม 80 คน ร่วมสรุปผลการนำเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) มาใช้ในการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันบุคคลประโยชน์ในงานบริการสาธารณสุข
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการระบุตัวตนด้วยเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) เป็นโครงการสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย โดยมีสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยประสานงานหลักกับสภากาชาดไทย เนคเทค ตลอดจนหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและสะดวกรวดเร็วในการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันบุคคล โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวต้องประสบกับปัญหาระบุตัวตนเมื่อรับบริการในระยะที่มีการระบาดรุนแรงของโรคโควิด 19 และการคัดกรองโรคและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้กรมควบคุมโรคและสภากาชาดไทย ซึ่งมีภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสุขภาพโดยไม่เลือกเชื้อชาติตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องหาวิธีระบุตัวบุคคลให้แม่นยำ โดยได้รับการสนับสนุนทีมนักวิจัยจากเนคเทค มาพัฒนาเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition)ของไทย
จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแรงงานต่างด้าวรับบริการสุขภาพแล้ว 8,619 คน
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาได้นำมาใช้ในพื้นที่นำร่อง พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุตัวบุคคลได้อย่างดี เจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจและเล็งเห็นประโยชน์ต่อแผนงานป้องกันควบคุมโรคและการดูแลสุขภาพ และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อขยายผลการดำเนินงานไปสู่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ตาก ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566 มีแรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเพื่อรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขตลอดจนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว 8,619 คน โดยร้อยละ 80 เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา รองลงมาคือ กัมพูชา ร้อยละ 6.9 และลาว ร้อยละ 3.4
โดยสภากาชาดไทยได้สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การใช้งานให้กับหน่วยบริการ ผู้ปฏิบัติงานจากพื้นที่นำร่องจะได้รับการอบรมการใช้งานก่อนนำไปปฏิบัติงาน พบว่าระบบนี้สามารถยืนยันตัวบุคคลแรงงานข้ามชาติที่มารับบริการที่โรงพยาบาลได้แม่นยำ สะดวกในการใช้งานกับการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชน เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งการคัดกรองสุขภาพต่างๆ อีกทั้งสามารถใช้งานร่วมกับการตรวจสุขภาพแรงงานก่อนการขึ้นทะเบียน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะถัดไป ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขยายหน่วยบริการให้ครอบคลุมในจังหวัดนำร่อง โดยสภากาชาดไทยพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เพิ่มเติมในหน่วยบริการที่ร่วมโครงการ และเล็งเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมโยงข้อมูลที่จัดเก็บนี้กับข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาล ทั้งด้านการรักษา ป้องกันควบคุมโรคให้ครอบคลุมตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแผนงานย่อยและเป้าหมายของการระบุตัวบุคคลในงานบริการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติปีต่อไป ภายใต้การทำงานแบบพหุภาคีที่มุ่งไปสู่สุขภาพที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
- 179 views