โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องใน “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ขอเชิญชวนชาวไทยตระหนักถึงภัยร้ายของโรคมะเร็ง
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2511 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2561 พบมีผู้ป่วยรายใหม่ 139,206 คน เป็นเพศชาย จำนวน 67,061 คน เพศหญิง 72,145 คน และในปี 2564 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึง 83,795 คน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร ทำให้ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งและลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนมะเร็งครบวงจร โดยจัดตั้งทีม Cancer Warrior หรือ CA Warrior ต่อสู้กับโรคมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด คือ
- มะเร็งตับ
- มะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
ประกอบไปด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการดูแลมะเร็งแบบครบวงจรทั่วทั้งประเทศ
ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง แพทย์หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเวลากว่า 55 ปี ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศและภาคีเครีอข่าย มุ่งมั่นต่อสู้ร่วมกับผู้ป่วยเพื่อเอาชนะโรคร้าย จากการดำเนินงานตามนโยบาย Cancer Anywhere ที่ผ่านมาช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงบริการตรวจรักษาในทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้อย่างสะดวก นำมาสู่นโยบาย Cancer Warrior เพื่อขับเคลื่อนมะเร็งอย่างครบวงจร ในมะเร็งสำคัญ 5 ชนิดของประเทศไทย ได้มีการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับเพื่อส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจอย่างครบวงจร ดูแลตั้งแต่ยังไม่ป่วยจนถึงเมื่อป่วย ให้ได้รับการรักษาเหมาะสม ช่วยลดการเจ็บป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
แม้หลายท่านกังวลว่าตนเองหรือครอบครัวอาจเป็นผู้ประสบโชคร้ายเมื่อดูจากสถิติที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ความเป็นจริงเราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และไม่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกายจากสัญญาณเตือน 7 ประการ ได้แก่
- ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง
- เป็นแผลเรื้อรัง
- ร่างกายมีก้อนตุ่ม
- กลืนกินอาหารลำบาก
- ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล
- ไฝหูดเปลี่ยนไป
- ไอและเสียงแหบเรื้อรัง
จะช่วยให้รู้ตัวและสามารถพบแพทย์ได้เร็วส่งผลให้การรักษาได้ผลดี นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าโรคมะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง การค้นพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายจากโรคสูง
สามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCIรู้สู้มะเร็ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดไทม์ไลน์ “มะเร็งครบวงจร” ตั้ง Cancer Warrior ทุกจังหวัด คิกออฟฉีดวัคซีนHPV คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ
สปสช. หนุน Quick win 100 วัน “มะเร็งครบวงจร” จัดสิทธิประโยชน์พร้อมรุก “บริการมะเร็งปากมดลูก”
- 1627 views