สสส.-สอจร. ชูความสำเร็จสร้างต้นแบบองค์กรความปลอดภัยทางถนน 200 องค์กรในนิคมฯ - สถานประกอบการ หลังพบกลุ่มคนทำงาน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุฯ กว่า 50% ดันมาตรการใช้จริงเห็นผลในปี 2565-2566 สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัด 100% ปรับสิ่งแวดล้อมแก้ไขจุดเสี่ยง และลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ถึง 144 องค์กร
ที่ ห้องประชุม โรงแรมอมารี ดอนเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) จัดเวทีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนทั่วประเทศ และก้าวต่อไปกับความร่วมมือขับเคลื่อนงานมาตรการองค์กรในสถานประกอบการภาคเอกชน ที่ร่วมดำเนินงาน โครงการมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ตามแนวทาง “ตามกฎบัตรออตตาวา” ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้ง นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. มอบโล่ต้นแบบองค์ด้านความปลอดภัยทางถนน ในนิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบการภาคเอกชน 205 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดที่มีการบังคับใช้หมวกกันน็อกและคาดเข็มขัดนิรภัย 100% และสามารถลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ถึง 144 องค์กร โดยมีองค์กรร่วมดำเนินการทั้งสิ้น 380 องค์กร เกิดเป็นนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในการสร้างระเบียบวินัย เคารพกฎจราจร กลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย
นายอาคม กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยอยู่ระดับรุนแรงมาก ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 17,379 รายอยู่ในอายุ 15-24 ปี รองลงมาอายุ 25-49 ปี ส่วนใหญ่เป็นกำลังหลักของครอบครัวเพราะเป็นวัยที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงที่สุด เกิดความสูญเสียที่กระทบต่อครอบครัวรวมถึงเศรษฐกิจ ทั้งหมด 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560 - 2564) 511,515 ล้านบาท เป็นที่มาของความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมในภาคเอกชน โดยมีกลยุทธ์เชิงปฏิบัติ เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่ บังคับใช้เข็มขัดนิรภัย หมวกนิรภัย ปรับปรุงกายภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัย และความรับผิดชอบในหมู่พนักงาน ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขับเคลื่อนส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นำบทบาทเทคโนโลยี ใช้เทเลเมติกส์และการติดตาม GPS สำหรับการจัดการยานพาหนะ ใช้ระบบติดตามผู้ขับขี่ และใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุและจัดการกับปัจจัยเสี่ยง ลดการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตของพนักงานลูกจ้าง มีส่วนช่วยให้ไทยมีความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. สนับสนุน และขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นหาจุดคานงัดสำคัญเพื่อช่วยยกระดับการทำงาน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งต่างประเทศทำงานแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จโดยใช้ “มาตรการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement)” สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมหาแนวทาง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และหามาตรการเสริมพลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยชักชวนเครือข่ายภาคเอกชน สถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ มาร่วมออกมาตรการเชิงสังคม (Social Enforcement) ดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนในองค์กร ด้วยความห่วงใยขององค์กรและผู้บริหาร ได้เริ่มสร้าง “มาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน” มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวมมีภาคเอกชนมากกว่า 2,000 องค์กรที่ร่วมดำเนินการเพื่อดูแลความปลอดภัยทางถนนของพนักงานและบุคลากร และในปี 2565-2566 นี้ มีองค์กรที่สามารถลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ รวม 144 องค์กร และมี 205 องค์กร ที่สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย 100%
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนแห่งองค์การอนามัยโลก และประธานแผนงาน สอจร. กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยกับนโยบายหนุนเสริมสร้างความปลอดภัยของแรงงานจากอุบัติเหตุทางถนนในสถานประกอบการ คือ การเสียชีวิต แม้จะดูลดลงในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบระหว่างปี 2565 - 2566 แต่ปีนี้การเสียชีวิตมีมากถึง 17,379 ราย ตามข้อมูล 3 ฐาน ซึ่งมากกว่าแผนแม่บทฯ ที่กำหนดไว้ถึง 2,000 คน 50% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มคนทำงานในสถานประกอบการ ขณะที่เสียชีวิตบนถนนนอกสถานประกอบการกว่า 6,000 คน จากความเสี่ยงไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ และการใช้ความเร็วในการขับขี่ นำไปสู่การผลักดันให้เกิดกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนของนิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบการภาคเอกชน ผ่านกลไกบูรณาการ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน 3 ระดับ กระตุ้นให้มีส่วนร่วมของหน่วยงานระดับพื้นที่ มุ่งเป้าลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะของลูกจ้างในองค์กรลง 100%
- 86 views