ปิดฉากเวที PM2.5 Forum สสส. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร สกัด 11 ข้อเสนอยื่นรัฐบาล เดินหน้าป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ปกป้องสุขภาพประชาชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ในการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ระดับโลกมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมจัดการต้นตอปัญหามลพิษทางอากาศ ลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและภาระโรคจำนวนมาก สำหรับไทยให้ความสำคัญและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติฯ มุ่งเป้า “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน”
ซึ่งไม่สามารถรอการแก้ปัญหาจากภาครัฐเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ เอกชน ประชาสังคม มีการประสานเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ เพื่อคลี่คลายข้อจำกัดในการทำงาน สนับสนุนนโยบายแก้ปัญหา และร่วมผลักดันกฎหมายบริหารในภาพรวม ซึ่งตลอดทั้ง 2 วันของการประชุม มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน จาก 100 องค์กรทั่วประเทศ ได้ถูกสกัดเป็นข้อเสนอที่จะถูกส่งต่อยังภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปกป้องสุขภาพของประชาชนและผู้มาเยือนอย่างยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการประชุมระดับชาติฯ มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ประชุมระดับชาติเรื่อง “มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 ได้ร่วมกันสกัดข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวน 11 ข้อ
1.นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย PPP (Polluter Pays Principle) มากำหนดความรับผิดชอบต่อผู้ก่อปัญหาและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย
2. คุ้มครอง ส่งเสริมชุมชนจัดการทรัพยากร และกำหนดมาตรการที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐในการจัดการ บำรุง รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
3. ส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา R&D เทคโนโลยีด้านการเตือนภัย
4. จัดทำฐานข้อมูลโดยการมส่วนร่วมให้เป็นปัจจุบัน จำแนกให้เป็นไปตามประเภทของปัญหา การเปิดเผย และเข้าถึงฐานข้อมูลอย่างทั่วถึง
5. ปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ก่อมลพิษสู่การเกษตรที่ยั่งยืน
6. สร้างข้อตกลง กลไกกำกับร่วมในระดับอาเซียน
7. สร้างระบบธรรมาภิบาลกำกับการลงทุนของเอกชนข้ามพรมแดน
8. สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล
9. ติดตาม ตรวจสอบที่มา ความร้ายแรงและผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นของภาคอุตสาหกรรม
10. เน้น การจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยหลักสหวิทยาการ (Transdisciplinary)
11. เร่งรัดออกกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) และสิทธิจัดการทรัพยากรของชุมชน
นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายหลังรับมอบข้อเสนอ ว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันจากฝุ่น PM2.5 ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลงและเพิ่มขึ้นเป็นวงจรในรอบทุก 5 ปี การแก้ไขปัญหาจึงต้องวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทส. ให้ความสำคัญโดยร่วมผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการเพื่อให้เป็นกฎหมายที่ใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นอกจากนั้น ให้ความสำคัญด้านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และสนับสนุนกลไกการทำงานของ สสส. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อเป็นกลไกหลักของพื้นที่ รวมถึงสื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2567 ยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใช้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น พื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่เผาซ้ำซาก และกำหนดเป้าลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงให้ได้ 50% ใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวน ทส. จะรับจะรับข้อเสนอมาตรการไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ประชุมระดับชาติ PM 2.5 เปิดเวทีถกประเด็นอากาศสะอาด คุ้มครองสุขภาพ ปชช.
- 368 views