มติครม.เห็นชอบตาม คปร.บริหารอัตรากำลังคนส่วนราชการ ยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณของสายงานสนับสนุน เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง แต่ให้จ้างพนักงานราชการ พร้อมรายละเอียดต่างๆอีกเพียบ!
ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกจากปรับฐานเงินเดือนบรรจุใหม่แล้ว ยังมีเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ว่า นอกจากมติการปรับฐานเงินเดือนแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องการลดตำแหน่งข้าราชการเกษียณ กรณีเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องบริการก็จะตัดออก และปรับเป็นพนักงานราชการแทน รวมทั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ‘ชลน่าน’ ลั่นปรับ ‘เงินเดือนข้าราชการ’ ตอบโจทย์ส่วนหนึ่งนโยบายรัฐบาล - รายละเอียดขึ้นเงินตามวุฒิ)
ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สรุปสาระสำคัญตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการปรับเงินเดือนนั้น ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการทั้งหมด
โดย สำนักงาน ก.พ เห็นควรมีมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย โดยเบื้องต้นอาจพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ดังต่อไปนี้
ยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณสายสนับสนุน 3 ปี
1.การบริหารจัดการอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำหนดมาตรการ/แนวทาง/นโยบายในการกระตุ้นให้ส่วนราชการเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน โดยการยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณของตำแหน่งในสายงานสนับสนุน (เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการจัดทำและดำเนินการตาม Digital Transformation Plan ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ถูกยุบเลิกตามแนวทางดังกล่าว (เต็มจำนวน) โดยส่วนราชการจะจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 1 สัญญาจ้าง (ไม่เกิน 4 ปี) ทั้งนี้ หากมีเหตุผลและความจำเป็น คพร. อาจพิจารณาให้ต่อสัญญาได้เป็นรายกรณี
จำกัดช่วยราชการเฉพาะกรณีมีความจำเป็นเท่านั้น
2.การบริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า ปัจจุบันส่วนราชการต่าง ๆ มีการอนุมัติให้ข้าราชการไปช่วยราชการในส่วนราชการอื่นเป็นจำนวนมาก การช่วยราชการในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการต้นสังกัด ดังนั้น เพื่อให้การใช้กำลังคนภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด (Workforce Optimization) จึงเห็นควรมีมาตรการเพื่อจำกัดการช่วยราชการให้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น/หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น โดยคณะรัฐมนตรีอาจมีมติเป็นหลักการในทำนองเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 (เรื่อง การปรับปรุงอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 (เรื่อง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการให้ข้าราชการไปช่วยราชการ) กล่าวคือ ให้ทบทวนหรือยกเลิกการช่วยราชการทั้งหมด และต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการผู้ใดไปช่วยราชการที่ใด ให้เสนอขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย
เชื่อมข้อมูลกำลังคนส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐกับ ก.พ.
3.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ในฐานะต้นสังกัดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศหรือฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลเป็นของตนเอง ทำให้ข้อมูลกำลังคนภาครัฐประเภทต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลขาดข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายกำลังคนภาครัฐให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการใช้ประโยชน์กำลังคนภาครัฐ ตลอดจนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดไปยังภารกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จึงเห็นควรมีมาตรการเชิงบังคับให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนกับระบบโปรแกรมกลางด้านสารสนเทศทรัพยากรบุคคล (DPIS Center) ของสำนักงาน ก.พ. ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
พัฒนาค่าตอบแทนภาครัฐในอนาคต
4. การพัฒนาระบบค่าตอบแทนภาครัฐในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนภาครัฐให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาวการณ์ โดยมุ่งเน้นให้ระบบค่าตอบแทนภาครัฐเป็นเครื่องมือในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ การจ่ายค่าตอบแทนที่สะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง (Performance Based Pay) ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
อ่านรายละเอียดมติครม.เพิ่มเติม คลิก
- 12686 views