“หมอชลน่าน” ชี้ปรับเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุและชดเชยกลุ่มรับผลกระทบ รวมทุกส่วนราชการ ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ส่วนขึ้นเงินเดือน 2.5 หมื่นบาทต้องรอมิติความพร้อม ศก. แต่ถือว่าตอบโจทย์ส่วนหนึ่ง เร่งดูเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทนที่เหมาะสมบุคลากร สธ. -เปิดรายละเอียดปรับเงินเดือนขรก.ตามวุฒิ - เปิดรายละเอียดขึ้นเงินตามวุฒิ
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติปรับเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขด้วยหรือไม่ ว่า เรื่องการปรับฐานเงินเดือนภาพรวม ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศยกฐานเงินเดือน แต่กรณีนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด เพียงแต่เป็นหนึ่งในนั้น อย่างเรื่องปรับเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทก็ต้องรอมิติความพร้อมเศรษฐกิจ เพียงแต่ครั้งนี้ถือเป็นการช่วยระดับหนึ่ง เรียกว่าตอบโจทย์ได้ส่วนหนึ่ง เพราะฐานเงินเดือนข้าราชการแรกเริ่มต่ำมาก ตรงนี้ก็จะได้ปรับขึ้น
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า อย่างมติครม.ที่ผ่านมาในเรื่องการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ หลักๆ จะเป็นกลุ่มข้าราชการบรรจุใหม่ เพราะฐานเงินเดือนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเอกชน จึงมีแนวคิดปรับขึ้นประมาณ 10% ใน 2 ปีงบประมาณ และเมื่อปรับฐานของคนบรรจุใหม่ แต่คนเก่าก็จะมีค่าชดเชยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็จะมีรายละเอียดตามมติครม. นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องการลดตำแหน่งข้าราชการเกษียณ กรณีเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องบริการก็จะตัดออก และปรับเป็นพนักงานราชการแทน รวมทั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
“สำหรับเรื่องภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขนั้น เราก็พยายามดูแลบุคลากรทุกวิชาชีพ ทุกสายงานอยู่ เพราะลักษณะค่าจ้าง ค่าตอบแทนแบ่งเป็นหลายส่วน เราให้คนทำงานต้องได้รับค่าตอบแทน ฐานเงินเดือนปกติก็คือทำงานปกติ แต่ถ้าทำงานนอกเวลาราชการก็ต้องได้รับเพิ่ม แยกกันให้ชัด ซึ่งเราให้ความสำคัญมาก” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าว Hfocus เผยรายละเอียดตามมติครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ถึงการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ โดยใจความสำคัญระบุว่า สำนักงาน ก.พ. เห็นควรรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
1.1 วัตถุประสงค์
เพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ และเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ
1.2 หลักการ
อัตราเงินเดือนแรกบรรจุมีความเหมาะสมและแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิ การศึกษา และอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากจนเกินควร
1.3 เป้าหมาย
ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย
1.4 แนวทางดำเนินการ
(1) การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) ดังนี้
(2) การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
1.5 กลุ่มเป้าหมาย
ครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ
1.6 การมีผลใช้บังคับ
ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568
1.7 ประมาณการงบประมาณ
การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-ครม.อนุมัติขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปรับฐานบรรจุใหม่ 11,000-18,000 บาท
-ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างฯ - นักสาธารณสุข ชี้! กรณีปรับเงินเดือนขรก. "ควรเพิ่มจากฐานเงินเดิม 3,000 บาท"
-“หมอชลน่าน” ผุดโครงการแก้ภาระหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ลดจ่ายดอกเบี้ยโหดบุคลากรสธ.
- 3752 views