ครม.อนุมัติขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปรับฐานบรรจุใหม่ ปริญญาตรี 18,000 บาท ปวช. 11,000 บาท ภายใน 2 ปี ปรับเพิ่มปีละ 10% ข้าราชการเดิมที่ฐานเงินเดือนต่ำ ปรับชดเชยหรือย้อนหลัง

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาแนวทางการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลออกมาว่า 

การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

  • ผู้ที่จบปริญญาตรีบรรจุใหม่ ภายใน 2 ปี จะปรับเพิ่มไม่ต่ำกว่า 18,000 บาทต่อเดือน โดยปรับเพิ่มปีละ 10% 
  • ผู้ที่จบ ปวช. บรรจุใหม่ ภายใน 2 ปี จะปรับเพิ่มไม่ต่ำกว่า 11,000 บาทต่อเดือน โดยปรับเพิ่มปีละ 10%  

"ตัวอย่างเช่น ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปีแรกปรับเป็น 16,500 บาท ปีต่อไปปรับเพิ่มปีละ 10% ก็จะเกิน 18,000 บาทต่อเดือน โดยเบื้องต้นจะปรับแค่แรกรับบรรจุรับราชการ ส่วนผู้ที่จบ ปวช. บรรจุใหม่ จะไม่ต่ำกว่า 11,000 บาทต่อเดือน"

เงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับข้าราชการเดิมที่ฐานเงินเดือนต่ำกว่าฐานของข้าราชการบรรจุใหม่ ให้มีการปรับชดเชยหรือย้อนหลัง ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 

จากเดิมมีหลักการว่า ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 13,285 บาท จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาทต่อเดือน และเมื่อเพิ่มแล้วต้องไม่เกิน 13,285 บาท แต่จะมีการปรับเพดานใหม่เป็น 14,600 บาท หากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเงินเดือนไม่เกิน 14,600 บาท จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท แต่รวมแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 14,600 บาทต่อเดือน

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท หรือเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแล้วก็ยังไม่ถึง 10,000 บาท จะปรับเพดานใหม่เป็น 11,000 บาท หรือผู้ที่มีเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแล้วยังไม่ถึง 11,000 บาท ก็จะเพิ่มให้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 11,000 บาทต่อเดือน

นายชัย เพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะใช้งบประมาณในปีแรก 7,200 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 และในปีที่ 2 จะใช้งบประมาณ 8,800 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 แต่เนื่องจากงบประมาณในปีแรกจะใช้ได้จริงประมาณเดือนพฤษภาคม จึงอาจใช้จริงในปีแรกแค่ 5 เดือน จึงเป็นการอนุมัติในหลักการก่อน ด้านเงินค่าครองชีพชั่วคราวตั้งงบประมาณไว้ปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบและให้ทุกหน่วยงานไปดำเนินการตามนี้ โดยใช้แนวทางไปเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567