ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างฯ - นักวิชาการสาธารณสุข ชี้! กรณีปรับเงินเดือนขรก.-จนท.รัฐ อย่างน้อยควรปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทวงถามการบรรจุขรก.โควิดรอบ 2 วอนสำนักงาน ก.พ.ดำเนินการอย่างเร่งรัดเพราะเวลาที่เสียไปคืออายุงาน-อายุราชการ
ตามที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักการขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ เพิ่ม 10% ภายใน 2 ปี โดยวุฒิปริญญาตรี 18,000 บาท ซึ่งจะทำให้เงินเดือนของข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ 18,000 บาทต่อเดือน สำหรับข้าราชการ C9 ขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับแต่อย่างใด นั้น อ่านข่าว ครม.เห็นชอบขึ้นเงินเดือน 'ข้าราชการบรรจุใหม่ -ชั้นผู้น้อย' ไม่ปรับทั้งระบบ
จากกรณีดังกล่าว วันที่ 30 พ.ย. 2566 น.ส. อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค และ นายวรัญญู พรหมเพ็ญ นักวิชาการสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ดังนี้
นายวรัญญู พรหมเพ็ญ นักวิชาการสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจว่าการปรับเงินเดือนต้องปรับของข้าราชการที่มีเงินเดือนมาจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งเข้าใจว่าในส่วนของกลุ่มลูกจ้างนั้นต้องใช้เงินของหน่วยงานซึ่งในกระทรวงสาธารณสุขต้องใช้เงินบำรุงซึ่งแต่ละแห่งมีความมั่นคงทางด้านการเงินไม่เหมือนก้น แต่ก็อยากให้ปรับวุฒิ ป.ตรี ให้ถึง 15,000 บาท หรือปรับตามวุฒิที่จ้าง เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการจ้างงานที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มพนักงานราชการ กลุ่มพนักงานกระทรวง กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และกลุ่มจ้างเหมาบริการ
"ซึ่งควรแก้ที่ระบบจ้างงาน เพราะแต่ละประเภทก็จะได้รับเรทเงินเดือนที่ไม่เท่ากัน จึงควรจะมีการกระจายตำแหน่งเหล่านี้ให้มีในระบบเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเพื่อให้ได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น"
นายวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบรรจุโควิดรอบสอง ที่สำนักงาน ก.พ. ให้ข้อมูลว่าต้องมีการสอบเพราะมีคนร้องเรียนจึงอยากตั้งข้อสังเกตดังนี้ สำนักงาน ก.พ.ทำตามข้อร้องเรียนตามที่กล่าวอ้างว่ามีการร้องเรียนทางอนุกรรมการจึงเสนอว่าให้มีการสอบทำได้หรือไม่อย่างไร เพราะตำแหน่งโควต้าการบรรจุกรณีพิเศษนั้นถือเป็นมติ ครม. ชุดก่อนซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องปฏิบัติตามหากไม่ปฏิบัติตามนั้นจะเป็นเรื่องผิดหรือไม่
ซึ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดพวกเราทำงานกันอย่างเต็มที่อยากให้คิดว่าตอนมีโรคระบาด กลุ่มคนป่วยหรือแม้แต่ผู้เสียชีวิตยังไม่มีใครกล้าเข้าใกล้แต่พวกเราทำงานเชิงรุกกันอย่างเต็มที่ทั้งคัดกรองจ่ายยาอยู่เวร CI ทำ HI ผู้ป่วยเฝ้าระวังสอบสวนโรคอย่างหนักหน่วงอยากให้อนุกรรมการพิจารณาส่วนนี้ด้วย อยากสื่อสารให้สำนักงาน ก.พ.เข้าใจ และอยากให้ดำเนินการอย่างเร่งรัดเพราะเวลาที่เสียไปคืออายุงานอายุราชการของพวกเรา และสุดท้ายหากสำนักงาน ก.พ. ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าว จึงอยากเชิญชวนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมลงชื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
ด้าน น.ส. อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช กล่าวว่า ก็รู้สึกมีความยินดี และดีใจ ที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของคนปฏิบัติงานในส่วนราชการ แต่อยากให้ช่วยดูแลผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการทั้งระบบ ซึ่งในความเป็นจริง กระบวนการทำงาน ไม่ได้มีเพียงเฉพาะข้าราชการ แต่ยังมีกลุ่ม ลูกจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน/รายคาบรวมอยู่ด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนมดงานที่เป็นกำลังสำคัญต่อระบบราชการไทยไม่น้อยไปกว่ากลุ่มข้าราชการ เพราะทุกวันนี้รายได้ของคนปฏิบัติงานกลุ่มนี้น้อยมากๆ ซึ่งไม่สอดคล้องและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานกลุ่มนี้มีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งกลุ่มลูกจ้างกลุ่มนี้มีอายุงานมากกว่า 15 ปีขึ้นไป แต่ฐานเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่าน คณะทำงานและสมาชิกกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค กระทรวงสาธารณสุข เดินทางเข้าพบ ท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และท่านประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยตามที่ท่านเลขาธิการประสานมายังคณะทำงานกลุ่มลูกจ้างและ พกส.4ภาค ในวันที่30 พ.ค. 66 เพื่อหารือเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งอนาคต ความก้าวหน้าของลูกจ้าง พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นทางผู้บริหารได้ให้เรากลับไปหาข้อสรุปวิธีการหรือแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อกลับมาหารือกันอีกครั้ง
ซึ่งได้วิธีการดังนี้ คือ แนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มลูกจ้าง เรื่อง ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน และสวัสดิการ ของลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) โดยเราอยากขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน และสวัสดิการของลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)ให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้รับค่าตอบแทนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญและกาลังใจในการปฎิบัติงานหลังจากสถานการณ์ Covid - 19 ที่ผ่านมา โดย ให้มีการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3,000 บาท
ทั้งนี้หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะขอเสนอปรับเพิ่มค่าตอบแทนแบบขั้นบันได ดังนี้
อายุงาน 3 - 5 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 20%
อายุงาน 6 - 10 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 40%
อายุงาน 11 - 15 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 60%
อายุงาน 16 - 20 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 80%
อายุงาน 21 - 25 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 100%
หมายเหตุ : 1. ปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือน ณ ปัจจุบัน และนับอายุงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 2. อายุงานเศษ 6 เดือนขึ้นให้ปรับเป็น 1 ปี 3. คิดปรับเพิ่มเงินเดือน จากยอดเงิน 3,000 บาท
- 19520 views