กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เพื่อพัฒนาการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย (Mild Cognitive Impairment (MCI), Dementia and Alzheimer's Disease)
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ("AD”) ถือเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยในประเทศไทย สืบเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงและความจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลระยะยาว ผลกระทบของภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัย ด้านการวินิจฉัย การรักษามาเป็นระยะเวลายาวนานของ บริษัทเอไซฯ แสดงให้เห็นถึงความท้าทาย 3 ประการหลัก ในการเข้าถึงการรักษาภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย ดังต่อไปนี้
1. การตระหนักรู้เกี่ยวกับโรค: การตระหนักรู้ถึงอาการ สัญญาณเตือน และความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงแนวทางการป้องกันสำหรับภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์นั้นไม่เพียงพอ
2. โครงสร้างพื้นฐานการวินิจฉัยและการเข้าถึงบริการ: ในปัจจุบันยังไม่มีการแนะนำเครื่องมือคัดกรองภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงระบบการวินิจฉัยระดับสูงที่ค่อนข้างจำกัด
3. การเข้าถึงการดูแลโดยรวม: การสนับสนุนด้านการเข้าถึงการรักษาและด้านค่ารักษา รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์และผู้ดูแลที่ค่อนข้างจำกัด
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ เอไซฯ และกรมการแพทย์จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านนโยบายและแผนการสนับสนุนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่แข็งแกร่งสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว
ด้าน นายคานาซาว่า โชเฮ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไซฯ ประจำภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา กล่าวว่า บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ นำโดยเภสัชกรณัฐพันธุ์ นิมมานพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ ร่วมมือกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ "การศึกษาความเป็นไปได้" (Feasibility Study) สำหรับโรคสมองเสื่อม หวังผลต่อยอดสู่การสร้างนโยบายแห่งชาติในการดูแลผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ของประเทศไทย โดยโครงการนี้มุ่งเน้นและมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการตระหนักรู้ การเข้าถึงการวินิจฉัย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการพยาบาลที่เอื้อต่อผู้ป่วยในการเข้าสู่การรักษา การดูแลผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงแผนการสนับสนุน ตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและผู้สูงวัย มากไปกว่านั้นจากความร่วมมือกันในการจัดทำ "การศึกษาความเป็นไปได้" (Feasibility Study) ของโครงการสำหรับโรคสมองเสื่อมนี้ ผลลัพธ์ของการศึกษาจะถูกนำเสนอผ่านการจัดทำกิจกรรมการรับฟังประชาพิจารณ์ต่อสาธารณะ (Public Hearing Event) โดยทั้งสององค์กร จะร่วมมือผลักดันด้านนโยบายและแผนสนับสนุนระดับชาติที่เป็นไปได้ เพื่อผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในระยะยาวต่อไป
การลงนามในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนลงนามจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา และบริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด นำโดย นายคานาซาว่า โชเฮ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไซฯ ประจำภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา และ เภสัชกรณัฐพันธุ์ นิมมานพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ
- 311 views