รมว.สาธารณสุขแจงยิบ! หลังปม สปสช.เรียกเงินคืนจาก รพ.สังกัดกระทรวงฯ กว่า 2 พันล้าน เหตุเป็นเงินส่วนต่างที่จ่ายเกินจากคำนวณค่าหนักน้ำหนัก DRG ผู้ป่วยใน ใช้หักเป็นหนี้บัญชีปีหน้า ไม่ได้ดึงเงินกลับ จ่อชงบอร์ด สปสช.พิจารณาทางออกเอาเงินเหลือถัวจ่ายก่อน พร้อมหาทางเหมาะสมทั้งสองฝ่าย
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าว สปสช.ดึงเงินคืนจาก รพ.สังกัด สธ. รวมกันกว่า 2 พันล้านบาท ว่า ไม่ใช่การดึงเงินคืน เรื่องนี้ตอนไปตรวจราชการ ได้พบ ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป หรือหลายๆ ที่ก็ส่งข้อมูลมาว่า เม็ดเงินของเดือนที่ 12 ของปี 2566 ยังไม่ได้รับจาก สปสช. และมีเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่เสมือนจะถูกเรียกคืนจากที่ได้รับมา 11 เดือน เลยนำเรื่องนี้มาปรึกษาหารือ โดยสรุป คือ การจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการจะมีส่วนของค่าเหมาจ่ายเป็นก้อน จะทำงานบริการมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ในวงเงินนี้ อีกส่วนคือทำมากก็ได้มาก จะเป็นการดูแลผู้ป่วยในที่จะคิดค่าใช้จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) โดยให้เป็นสัดส่วนตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (adjRW) หรือค่างาน ให้เป็นฐานหลักคือ 8,350 บาทต่อหน่วย แต่ละโรคก็จะมีค่างานแตกต่างกันไป ก็จะคิดเรทออกมาแล้วมาปรับฐาน ซึ่ง สปสช.ใช้ตัวเลขนี้กับ รพ.ทุกที่ แต่เวลาคิดรายละเอียด บางแห่งได้ออกมาไม่เท่ากัน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การจ่ายเงิน สปสช.มีเพดาน หรือ Ceiling กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้พบว่าเดือน 12 เกินวงเงินเพดานไปแล้ว 2,600 ล้านบาท เขาเลยคิดว่าเมื่อจ่ายเงินเกินไปก็จะขอส่วนต่างตรงนี้คืน แต่ไม่ได้เรียกเงินคืน วิธีการก็บอกว่าปีต่อไปก็จะลด โดยหักเป็นหนี้ทางบัญชีไว้ เพื่อไปถัวจากที่ได้เกินไป เมื่อได้รับข้อมูลแล้วมานั่งดู เลยออกแนวทางไว้ว่า ค่า DRG 8,350 บาทต่อหน่วย แม้ว่าค่างานที่คิดงานออกมาจะไม่ถึง 8,350 บาท แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าได้กำไร ก็ยังขาดทุนอยู่ เลยให้แนวทางว่า 1.จ่ายให้ไปเต็มๆ 8,350 บาท 2.กลุ่มที่มีเนื้องานเกิน 8,350 บาท ควรหามาชดเชย ซึ่งตอนนี้ก็เหลือเงินไม่มากแล้ว
"แล้วที่เกินวงเงินเพดานไป 2.6 พันล้านบาท จะหาจากไหนมาจ่าย เลยให้นโยบายว่า มีเงินเหลือเท่าไรให้เอาเข้าสู่บอร์ด สปสช.พิจารณาอนุญาตอนุมัติเอาเงินมาถัวเฉลี่ยจ่ายเดือนที่ 12 ไปก่อน แล้วค้างตัวเลขไว้ และไปดูงบปี 2567 ว่าจะเอามาชดเชยได้หรือไม่ นี่เป็นแนวทางที่ผมเสนอยังไม่เป็นมติ เพราะต้องผ่านบอร์ดก่อน พูดง่ายๆ วิธีการที่จะทำแบบเดิมที่จะเรียกเงินคืน เราจะไม่ทำแล้ว แต่ต้องได้รับอนุมัติจากบอร์ด สปสช.ก่อน" นพ.ชลน่านกล่าว
ถามว่าต้องแจ้ง รพ.ด้วยหรือไม่ เพราะบางที่มีการคีย์ข้อมูลที่เกินหรือไม่ถูกต้อง นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราก็ให้แนวทางว่า ต้องมีวิธีการไปตรวจสอบ แล้วปีต่อไปอาจหาวิธีการใหม่ เช่น ระบบดิจิทัลไอทีดี ก็อาจให้รีพอร์ทเรียลไทม์เลย ไม่ต้องให้พื้นที่คำนวณ รีพอร์ทเรียลไทม์มา ส่วนกลางก็มาคำนวณเรื่องพวกนี้เอง เพื่อให้มีค่าเป็นมาตรฐาน
ถามถึงกรณีกระแสเรื่องนี้ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ใช่การยกระดับบัตรทอง แต่เป็นลดระดับบัตรทอง นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ให้ฝ่ายเลขาธิการ สปสช. เอาเข้าสู่บอร์ด เราต้องให้สิทธิของผู้ป่วยได้รับบริการอย่างดีที่สุด ภายใต้วงเงินที่มีอย่างจำกัด ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี
- 3051 views