หากนับจำนวนเด็กแรกคลอด 1,000 คนที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะมีประมาณ 1-3 คนที่ไม่สามารถแม้แต่กระทั่ง “ได้ยิน” เสียงแรกเรียกจากผู้ปกครอง ซึ่งเกิดจาก “ความบกพร่องทางการได้ยิน” ที่เป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเรียกเฉพาะเจาะจงขึ้นไปอีกคือ “ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด” นั่นเอง 

ความบกพร่องดังกล่าวเป็นโรคที่การรักษามีราคาแพงหูฉี่ เพราะไม่เพียงแต่เด็กจะต้องได้รับการคัดกรองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรักษาที่ต้องทำการ “ผ่าตัด” เพื่อฝัง “ประสาทหูเทียม” ที่มีราคาเครื่องร่วมแสนไป 

ทว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจ คัดกรอง “การได้ยินของทารกแรกเกิดในกลุ่มเสี่ยง” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท หากพบว่ามีประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดร่วมด้วยก็สามารถใช้สิทธิ “ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเกณฑ์กำหนดไว้ว่าเด็กที่จะฝังได้ต้องมีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีระดับการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไปได้ 

กระทั่งปี 2565 บอร์ด สปสช. ได้มีการปรับสิทธิประโยชน์อีกครั้ง จากที่คัดกรองเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ก็ได้ขยายไปจนถึง “เด็กแรกเกิดทุกราย” โดย “โรงพยาบาลราชวิถี” เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและขานรับนโยบายนี้ ภายใต้การดูแลของ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน โสต ศอ นาสิก” ที่ช่วยให้เด็กที่มีความบกพร่อง สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติตามช่วงวัย

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า เด็กที่ไม่สามารถได้ยินหรือมีปัญหาทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิดเมื่อโตขึ้นจะพบว่ามีปัญหาทางด้านพัฒนาการ ไม่สามารถเรียนรู้ หรือพัฒนาด้านภาษา หมายความว่าในอนาคตจะไม่สามารถสื่อสารได้ และทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กที่ถือเป็นทรัพยากรของประเทศตามมาด้วย หากคิดจากจำนวนทารกแรกคลอด 1,000 คน จะพบว่ามีปัญหาด้านการได้ยินประมาณ 1-3 คน

ขณะเดียวกัน จากจำนวนทารกแรกเกิดในประเทศไทยจะเห็นได้ว่า “ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญ เพราะในปี 2564 มีทารกเกิดใหม่ประมาณ 5 แสนคน ขณะที่ปี 2560 มีทารกเกิดใหม่ถึง 7 แสนคน 

“จะเห็นเลยว่าจำนวนลดลง แล้วยังมีส่วนหนึ่งที่มีปัญหา ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ อนาคตเราจะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพลดลง” นพ.จินดา ระบุ 

อย่างไรก็ดีการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนให้มีการคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกคน โดยบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จะช่วยในการค้นหาเด็กที่มีปัญหาการได้ยินและเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว และทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่และเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต 

มากไปกว่านั้นทุกกระบวนการได้ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ว่ามีความคุ้มค่าและมีประโยชน์ที่จะใช้เงินภาษีมาช่วยคัดกรองและแก้ไขปัญหาการได้ยิน 

“ด้วยความโรงพยาบาลระดับตติยภูมิหรือสูงกว่า ที่มีทั้งอาจารย์แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก รวมถึงยังมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้านการฝังประสาทหูเทียมซึ่งเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนตามนโยบายจาก สปสช. ทั้งการคัดกรองและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” นพ.จินดา กล่าว

 

พญ.สมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายเสริมว่า ในประเทศไทยการบกพร่องทางการได้ยินหรือประสาทหูเสื่อมพบว่ามีประมาณ 3 แสนคน หรือ 18% ของความพิการทั้งหมดไม่ว่าจะแต่กำเนิดหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกันจากการคาดการณ์อาจจะพบทารกเกิดใหม่ที่ปัญหาเรื่องการได้ยินถึง 500 รายจากทารกเกิดใหม่ 5 แสนคน 

“ตอนนี้ตัวเลขจริงที่มีการรายงานอาจจะยังมาไม่ถึง เนื่องจากการเข้าถึงระบบของข้อมูลทำให้เรากำลังรวบรวมอยู่ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง แต่เราก็พยามค้นหาเด็กที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิดโดยการพยายามคัดกรอง” พญ.สมจินต์ กล่าว 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ตัวเลขแสดงให้เห็นว่ามีการคัดกรองที่ครอบคลุมมากกว่าที่ผ่านมา แตกต่างจ่างในอดีตที่จะคัดกรองเฉพาะในเด็กทีเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เกิดมาพร้อมอาการตาเหลือง ตัวเหลือง หรือมีออกซิเจนบกพร่องตั้งแต่แรกเกิด ฯลฯ ทว่าก็ยังต้องมีการติดตามการให้บริการของหน่วยบริการในแต่ละเขตสุขภาพด้วยว่าทำได้เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ทุกโรงพยาบาลก็ได้รับบนโยบายในส่วนนี้ไปแล้วในการจัดบริการให้แก่เด็กแรกเกิดทุกราย 

พญ.สมจินต์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการฝังประสาทหูเทียมเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก แต่เมื่อระบบบัตรทองฯ มีสิทธิประโยชนนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ผู้ที่มีปัญหาทางเศรษฐานะก็สามารถเข้าถึงได้หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นข้อดีที่ทำให้เด็กไทยมีโอกาสฟังหรือพูดใกล้เคียงได้กับเด็กปกติ 

ในส่วนขั้นตอนรักษาไม่ได้ยากเหมือนการเข้าถึง โดย นพ.ดาวิน เยาวพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด สามารถทำได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด ด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยที่มีลักษณะคล้ายหูฟังที่มีขนาดเล็กพกพาง่าย และสามารถบอกผลได้เร็ว ในกรณีผลออกมาแล้วพบว่าปกติหากไม่มีความเสี่ยงเพิ่มเติมก็จะถือว่าปกติ แต่ในกรณีที่ผลออกมาว่าไม่ผ่าน แพทย์ก็จะทำการตรวจซ้ำหรือตรวจละเอียดมาขึ้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย

สำหรับเด็กที่สูญเสียการได้ยินไม่มากก็จะมีการใส่เครื่องช่วยฟังในข้างที่มีปัญหา หรือทั้งสองข้าง ส่วนในรายที่มีปัญหารุนแรง เช่น ไม่ได้ยินเสียง หรือหูหนวกก็จะมีการพิจารณาการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่แทนหูชั้นในในการรับเสียง เพื่อทำให้สมองเกิดการพัฒนา ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าตัดฝังเข้าไปนั้นเป็นวัสดุที่มีคุณภาพเพราะคาดหวังว่าจะอยู่ไปตลอดชีวิตไม่พัง หรือชำรุดเสียหาย จะมีเพียงอุปกรณ์ภายนอกเท่านั้นที่ต้องได้รับการดูแล

“ส่วนของหูเป็นอวัยวะรับเสียง แต่สมองที่มีหน้าที่ฟังเสียง ฉะนั้นหากหูผิดปกติสมองก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นส่งต่อพัฒนาการตื่นๆ ตามมา เห็นได้ชัดคือเรื่องของภาษา เด็กที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดจะไม่สามารถมีพัฒนาการทางภาษา ไม่สามารถพูดได้” นพ.ดาวิน ระบุ 

อย่างไรก็ดี สมองของเด็กจะพัฒนาได้สูงสุดในช่วง 3-6 ปีแรก (Golden Period) ฉะนั้นเมื่อได้รับการกระตุ้นเร็วเด็กก็จะมีพัฒนาการไปปกติ ซึ่งถ้าหากเลยช่วง Golden Period ไปแล้วสมองอาจไม่พัฒนา ทำให้ได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผลเลย ขณะเดียวกันหลังจากการผ่าตัดไปแล้วก็จะต้องมีการกระตุ้น ฝึกฝนเพื่อให้สมองมีการพัฒนา 

 

“สิทธิประโยชน์นี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะการที่จะเปลี่ยนเด็กคนหนึ่งที่มีความาพิการทางการได้ยิน อาจจะพูดไม่ได้ต้องใช้ภาษามือไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมปกติทั่วไปได้ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่ง จากที่เกิดมาหูไม่ค่อยได้ยิน สามารถมีพัฒนาการที่จะอยู่ร่วมกับคนปกติ สังคมปกติก็จะเป็นอะไรที่ดีและมีประโชน์มาก” นพ.ดาวิน ระบุ 

 

ด้าน อมรรัตน์ ผ่านเมือง ผู้ปกครองเด็กที่ได้รับการคัดกรองและฝังประสาทหูเทียม เล่าว่า หลังจากคลอดลูกได้ 11 วัน โรงพยาบาลก็ได้มีการนัดให้เข้าไปตรวจค่าตับ และแพทย์ก็แนะนำให้ตรวจคัดกรองการได้ยินร่วมด้วยจึงทำให้รู้ว่าน้องมีปัญหาทางการได้ยิน จากนั้นโรงพยาบาลก็ได้มีการนัดติดตามเรื่อยๆ จนแน่ใจแล้วว่ามีปัญหา จึงมีการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เพื่อทำ CT Scan จนได้ทราบว่าประสาทหูของน้องไม่ทำงาน แพทย์จึงได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี 

“หมอส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี และก็ได้แจ้งว่าให้ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ตอนนั้นไม่ได้กังวลเลยเพราะมั่นใจว่าลูกจะได้ยิน” น.ส.อมรรัตน์ ระบุ 
    
จากที่ส่งตัวมาแล้ว ตอนนั้น น.ส.อมรรัตน์ ไม่ทราบเลยว่ามีระบบบัตรทองมีสิทธิประโยชน์นี้ จนกระทั่งแพทย์ที่โรงพยาบาลได้แนะนำ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับตั้งแต่ส่งตัวมา ลูกก็ได้รับการผ่าตัดในช่วงอายุ 1 ปี 
    
หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วใช้เวลาในการปรับตัว 1-2 เดือน โดยมีพยาบาลคอยให้คำแนะนำในการฝึกพูด หรือเลียนแบบเสียงธรรมชาติ ในช่วงแรกๆ จะมีกานัดติดตามอาการทุกอาทิตย์ จนถึงตอนนี้ผ่าตัดมาได้แล้วประมาณ 4 เดือน พบว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ได้ยินเสียง และสามารถทำตามที่บอกได้ 
    
ทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มคัดกรองจนได้รับการผ่าตัดตลอดจนการฝึกพัฒนาการไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเหมือนที่ได้เคยกังวลไว้ก่อนหน้า ทำให้รู้สึกว่าสิทธิประโยชน์แบบนี้ควรจะมีต่อไปเรื่อยๆ 
    
เช่นเดียวกับ ณิรินทร์รดา จำปาสี หนึ่งผู้ปกครองที่ได้นำลูกเข้ารับการผ่าตัดเพื่อฝังประสาทหูเทียม โดยใข้สิทธิบัตรทอง เล่าว่า สิ่งที่ทำให้ทราบได้ว่าลูกมีความผิดปกติทางการได้ยินคือการสังเกตพฤติกรรมตั้งแต่ยังแบเบาะ เพราะช่วงนั้นจะมีการทำงานก่อสร้าง หรือพยายามเรียกเสียงดังเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ลูกไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้กลับมา 
    
กระทั่งลูกอายุได้ 2 ขวบ 5 เดือนจึงตัดสินใจเดินทางเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ครั้งแรกผลออกมาไม่แน่ชัด แต่เมื่อมีการตรวจซ้ำจึงได้รู้ว่าน้องไม่ได้ยินเสียง 100 เดซิเบล 
    
“ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้เข้ามาคัดกรองก็เพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีของน้อง เพราะคนถ้าไม่ยินก็จะใช้ชีวิตยาก เข้ากับคนที่ปกติไม่ได้ เช่น หากไม่ได้ยินแล้วต้องข้ามถนน ไม่ได้ยินเสียงแตรก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายได้” ณิรินทร์รดา ระบุ
    
ท้ายที่สุด ลูกของ ณิรินทร์รดา ได้รับการส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถีภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทอง แต่ก่อนหน้าที่จะผ่าตัดต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ซึ่งกินเวลาไปร่วม 6 เดือน จนในที่สุดน้องเพลงก็สามารถผ่าตัดและสามารถเข้าโรงเรียนใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ปกติได้ จนตอนนี้น้องเพลงมีอายุได้ 4 ปีแล้ว และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

    
“ตอนนี้เข้าโรงเรียนแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือเพื่อนๆ การเข้าสังคมเหมือนเด็กปกติ คลายความกังวลขึ้นมาก เพราะน้องสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เอาตัวรอดได้บอกความต้องการและเราสามารถรับรู้ได้ สบายใจขึ้น” ณิรินทร์รดา กล่าว