กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สร้างเครื่องส่องไฟต้นแบบรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองเครื่องแรกของประเทศ ป้องกันสมองพิการ ประยุกต์ใช้หลอดไฟแอลอีดี ให้ความปลอดภัย พลังแสงส่องสว่างครอบคลุมตัวทารกได้ทั้ง 4 ด้าน ประสิทธิภาพลดปัญหาตัวเหลืองได้ดีมาก สามารถดูอาการเด็กได้อย่างใกล้ชิดทางสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เพิ่มความสะดวกแพทย์ พยาบาล และแม่เด็ก ต้นทุนผลิตเพียง 30,000 บาท ถูกกว่าเครื่องนำเข้าถึง 10 เท่าตัว อยู่ระหว่างพัฒนาระบบเซนเชอร์ตรวจเช็คระดับบิลิรูบิน ผ่านทางผิวหนัง โดยไม่ต้องเจาะเลือด
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 3 จังหวัดนครสวรรค์ ได้ศึกษาและพัฒนาเครื่องส่องไฟฟ้ารักษาทารกแรกเกิดที่มีสภาวะตัวเหลืองเรียกว่า แอลอีดี โฟโตเธอราปี (LED Phototherapy) ซึ่งปัญหาเด็กตัวเหลืองนี้ พบได้ทั้งในเด็กที่คลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนด หากไม่รีบแก้ไข อาจทำให้สมองเด็กพิการได้ หรือปัญญาอ่อนได้
โดยเครื่องส่องไฟที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้ มีลักษณะเด่นคือการใช้หลอดไฟชนิดแอลอีดี (LED) ชนิดแสงสีฟ้า ทำหน้าที่กระจายรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตไปที่ตัวทารกทั้ง 4 ด้าน คือ บน ล่าง ซ้าย และขวา คลื่นแสงที่ส่งไปยังตัวทารกจะมีความยาวได้มากกว่าเดิม ใช้พลังงานต่ำ ความร้อนน้อย ช่วยให้ย่นระยะเวลาการรักษา ลดระดับบิลิรูบินลงสู่ระดับเกือบปกติเพียง 1 วัน เมื่อเทียบจากเครื่องแบบเก่าจะใช้เวลา 3 วัน นับเป็นเครื่องแรกของประเทศ
รองอธิบดี สบส.กล่าวต่อว่า เครื่องนี้มีความปลอดภัยต่อผิวหนังของทารกแรกเกิด สามารถปรับลด-เพิ่มความเข้มของแสงได้ตามความต้องการถึง 5 ระดับ ทนต่อการสั่นสะเทือน มีเครื่องนับเวลาการใช้งาน สะดวกในการบำรุงรักษาเครื่อง โดยได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย ไว้ที่เครื่องส่องไฟด้วย เพิ่มความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ ทั้งแพทย์ พยาบาล รวมทั้งผู้ปกครองเด็ก สามารถติดตามดูอาการเด็กได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ราคาต้นทุนเพียงเครื่องละ 30,000 บาท ถูกกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 10 เท่าตัว เพิ่มทั้งคุณภาพการรักษาพยาบาล และได้เครื่องมือแพทย์มากขึ้นขึ้น ภายใต้วงเงินงบประมาณเดิม
สำหรับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด (Hyperbilirubinemia) เกิดจากการที่ร่างกายเด็กมีสารบิลิรูบินซึ่งเป็นสารสีเหลือง เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง พบได้ประมาณร้อยละ 25-50 ของทารกแรกเกิด และพบมากขึ้นในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยพบอาการตัวเหลืองปรากฏในช่วง 1 – 2 สัปดาห์หลังคลอด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดได้หลายปัจจัย เช่น เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ เอนไซม์บางตัวในตับน้อยหรือขาดเอนไซม์บางอย่าง เป็นต้น ในเด็กครบกำหนดค่าบิลิรูบินปกติไม่เกิน 12 มก./เดซิลิตร ในเด็กคลอดก่อนกำหนดระดับสูงสุดไม่เกิน 15 มก./เดซิลิตร หากระดับบิลิรูบิลมากกว่าปกติจะส่งผลให้ทารกมีอาการตัวเหลืองมาก มีอันตรายมากขึ้น บิลิรูบิลจะไปจำกับสมองจะทำให้พิการได้ และมีอาการอ่อนแรง ซึม หรือหยุดหายใจและเสียชีวิตได้
การรักษามี 3 วิธี คือ การถ่ายเปลี่ยนเลือด การใช้ยา และการใช้แสงบำบัด ซึ่งวิธีใช้แสงบำบัดเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลาย และได้รับการพิสูจน์ประสิทธิความปลอดภัยในการลดบิลิรูบินในกระแสเลือดและใช้มาถึงปัจจุบัน
นายสมพงษ์ วิรัติสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 3 จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า สำนักงานฯได้ นำเครื่องส่องไฟฟ้ารักษาทารกแรกเกิดที่มีสภาวะตัวเหลืองโดยใช้หลอดแอลอีดีนี้ไปสอบเทียบที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พบว่าคลื่นแสงที่ส่งออกมามีความเหมาะสมสำหรับการรักษา และปลอดภัยต่อผิวหนังของเด็ก เมื่อเทียบจากหลอดฟลูออเรสเซ็นต์แบบเดิม ทีส่งผลให้ผิวหนังของทารกเกิดการตกกระ หลอดมีอายุใช้งานนานถึง 50,000 ชั่วโมง นานกว่าหลอดชนิดเดิมที่มีอายุใช้งาน 2,400 ชั่วโมง ได้นำไปทดสอบใช้งานจริงที่โรงพยาบาลตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พบว่าสามารถลดสารบิลิรูบิลในเลือดได้เร็วและใช้เวลาน้อยกว่าเดิม
ขณะนี้สำนักงานฯได้จัดทำเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจ สามารถติดต่อขอแบบไปประกอบเองได้ ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ที่ใช้สามารถหาได้ในท้องถิ่นทั่วไป เมื่อประกอบเสร็จแล้วสามารถส่งมาตรวจสอบมาตรฐานความเที่ยงตรงของเครื่องได้ที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 3 โทรสอบถามได้ที่ 0 5622 1289
ผู้อำนวยการสำนักงานฯ เขต 3 กล่าวต่อว่า ในปีนี้เขตจะพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลเด็กที่มีภาวะตัวเหลืองให้ดียิ่งขึ้น โดยจะวิจัยเครื่องเซ็นเซอร์ สำหรับตรวจวัดระดับบิลิรูบินทางผิวหนังของทารกแรกเกิด และแปรค่าความผิดปกติหรือค่าปกติได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเจาะเลือดเด็กมาตรวจเหมือนวิธีแบบเดิม หากสำเร็จก็จะเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงทางการแพทย์ของไทยในการดูแลเด็กแรกเกิดโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย
- 441 views