"หลักการคือเมื่อคุณมีทุนมนุษย์ คุณต้องรักษาเขา เวลาเจ็บป่วยเรามี Fast Track ให้ ทีนี้กลับมาที่กรอบของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าเรื่อง Identification มีความจำเป็น แต่คนที่ออกบัตรแสดงตัวได้ดีที่สุดคือสภาวิชาชีพ แล้วไปจัดการเรื่องความร่วมมือในการให้บริการในแต่ละจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชน”
วันที่เร็วๆ นี้ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จัดการประชุมสัมมนา "When health personnel get sick : เมื่อหมอ/พยาบาลป่วย" ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ มีเรื่อง "ระบบการดูแลบุคลากรเมื่อเจ็บป่วย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" โดยมี ศ.นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ อดีตนายกแพทยสมาคม, นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10, นางพวงทอง ตันวงษ์วาน อุปนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้
ศ.นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ อดีตนายกแพทยสมาคม ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวตั้งใจว่าถ้ามีอะไรฉุกเฉินจะเข้าโรงพยาบาลเอกชนเพราะเชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนมีระบบการดูแลที่รวดเร็ว ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีนี้ภรรยาของตนหกล้มในห้องน้ำศีรษะแตก ตนพาไปโรงพยาบาลรามาธิบดีประมาณ 4 ทุ่ม พอไปถึงห้องฉุกเฉินแล้วตกใจ มันเหมือนตลาดสด คนแน่นไปหมด ทางเดินแทบไม่มี แอบคิดในใจว่าถ้าพาไปโรงพยาบาลเอกชนก็ได้รับการดูแลไปแล้ว สุดท้ายต้องใช้วิธีโทรหาเรสสิเด้นท์ให้ช่วยลงมาดูให้ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเสร็จ แต่ถ้ารอ ไม่รู้ว่ารอถึงตี 5 จะได้กลับบ้านหรือไม่
ศ.นพ.ประเสริฐชี้ว่านี่คือการ Identification อย่างหนึ่ง บุคลากรวิชาชีพสุขภาพก็ควรต้องทำบัตรเพื่อ Identification ตัวเองขึ้นมาก่อน ได้ยินว่าโรงพยาบาลทรวงอกมีช่องทางพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ฟังดูแล้วมีลักษณะแอบๆ ต้องไม่ให้ประชาชนรู้ว่ามีช่องทางนี้ เดี๋ยวมีเรื่อง ดังนั้นคิดว่าสภาวิชาชีพควรมี Identification Card แล้วโรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแล ตัวอย่างเช่น เอไอเอสเซเรเนดโกลด์หรือแพลททินั่มได้สิทธิพิเศษมากกว่าลูกค้าทั่วไป หรือธนาคารไทยพาณิชย์มี SCB Frist ไปยื่นปุ๊ปได้รับบริการเลย คนมีบัตรอาจได้คิว A1 ขณะที่ลูกค้าทั่วไปอาจจะ B12 แบบนี้ไม่ต้องบอกว่าต้องรอกี่คิว ไม่ต้องแอบด้วย
"แบบนี้ทำได้ทันทีทำไมโรงพยาบาลต่างๆไม่ทำ แผนกไหนที่คนแน่น เข้าไปถึงยื่นบัตรแล้วเข้าไปเลย ผมคิดว่าโดยภาพรวมแล้วน่าจะทำอย่างนี้ได้" ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า วันแรกที่ไปรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่เขตสุขภาพที่ 10 ตนประกาศเลยว่าต้องการทำเรื่องครอบครัวสาธารณสุข ทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขเดินมาโรงพยาบาลต้องได้รับการดูแลเป็น Priority แรกๆ เพียงแค่เอาบัตรข้าราชการหรือพนักงานกระทรวงก็จะมี Green Channel ให้
อีกเรื่องที่ทำอยู่คือเมื่อก่อนตนอยู่ จ.ระนอง ในส่วนของห้องพิเศษ ข้าราชการเบิกได้ 1,000 บาทแต่บางโรงพยาบาลเก็บ 1,200 บาท กินเงินกันอีก 200 บาท ซึ่งเงินนิดๆหน่อยๆไม่จำเป็นต้องมาบวกเพิ่มอีก แบบนี้ไม่เก็บเพิ่มได้หรือไม่
"เราน่าจะทำกันแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะเขต 10 ข้าราชการหลายคนซื้อประกันสุขภาพแต่ไม่กล้าเข้าเพราะไม่รู้ว่าส่วนเกินเท่าไหร่ ถ้าวันนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าส่วนเกินจากประกันสุขภาพ คนกระทรวงสาธารณสุขลด 50% เชื่อว่าคนไปรับบริการเยอะเลย เช่น ห้องพิเศษ ประกันสุขภาพให้ 1,500 บาท แต่โรงพยาบาลเก็บ 3,000 บาท แทนที่จะจ่ายส่วนเกิน 1,500 บาท ก็จ่าย 750 บาท แบบนี้ทำได้เลย" นพ.ธงชัย กล่าว
ขณะที่นางพวงทอง ตันวงษ์วาน อุปนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงตัวอย่างการดูแลบุคลากรสมัยที่ตนยังทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชว่าจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้ยังมี Staff Center เป็นหน่วยงานจัดการ เช่น พอมีอาการป่วยก็โทรไปนัด แจ้งอาการและช่วงเวลาว่าง จากนั้น Staff Center จะนัดวันพบแพทย์ให้
ส่วนบุคลากรที่เกษียณแล้วก็จะมี Identification Card ให้ ลักษณะคล้ายบัตรประจำตัวบุคลากร ดูเผินๆจะไม่รู้ว่าเกษียณแล้ว เมื่อติดบัตรนี้เข้าไป เจ้าหน้าที่จะรู้และให้บริการรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่องทางพิเศษสำหรับบุคลากรเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาทิ โรคเอดส์ โรคจิตเวช จะไม่ส่งไปตรวจในคลินิกแต่มีช่องทางพิเศษ เช่น นัดพบมาตรวจในห้องส่วนตัวในสำนักงาน เป็นต้น
หรือห้องพิเศษก็มีสวัสดิการ หากเป็นบุคลกรที่ปฏิบัติงานอยู่หรือปฏิบัติงานเกิน 25 ปีก็ลดค่าห้องส่วนเกินให้ เช่น ห้องพิเศษรวม 1,500 บาท เบิกได้ 1,000 บาท ส่วนต่าง 500 บาท ถ้าทำงานเกิน 25 ปีได้ส่วนลด 90% หรือถ้าทำงานน้อยกว่านั้นก็จะมีส่วนลดลดหลั่นกันมา 80%, 70% หรือถ้าเป็นโรคที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ แม้ได้ส่วนลดค่าห้องพิเศษแล้วก็ยังเป็นเงินจำนวนมากก็สามารถขอความอนุเคราะห์ลดหย่อนเป็นกรณีพิเศษได้อีกด้วย
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนจะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าทุนมนุษย์ไม่ดี ถ้าดูแลบุคลากรไม่ดี ดังนั้นในโรงพยาบาลของตนจะมีการตรวจสุขภาพพนักงานและถ้าสงสัยว่าเป็นโรคเมื่อไหร่ บุคลากรสามารถรับบริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพราะถือว่าหายเร็วและไม่เป็นภาระ ค่าใช้จ่ายบริษัทจะน้อยลง
"หลักการคือเมื่อคุณมีทุนมนุษย์ คุณต้องรักษาเขา เวลาเจ็บป่วยเรามี Fast Track ให้ ทีนี้กลับมาที่กรอบของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าเรื่อง Identification มีความจำเป็น แต่คนที่ออกบัตรแสดงตัวได้ดีที่สุดคือสภาวิชาชีพ แล้วไปจัดการเรื่องความร่วมมือในการให้บริการในแต่ละจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนทางภาคเอกชนเรายินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว บ้านอยู่ใกล้ตรงไหนเข้ามา แต่ต้อง Identify ให้ได้ ค่าส่วนลดโรงพยาบาล ทางเอกชนก็ให้ส่วนลดพิเศษอยู่แล้ว" นพ.เฉลิม กล่าว
- 430 views