ชมรมนักสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยกรณีนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอื่นมานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกับตำแหน่งนักสาธารณสุข ล่าสุด ก.พ.ระบุ ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามหลักความเสมอภาคและความเป็นธรรมกับทุกสายงาน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายพัทธพล อักโข เลขานุการชมรมนักสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งว่า สำนักงาน ก.พ. ตอบข้อหารือประเด็นการนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอื่นมานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกับตำแหน่งนักสาธารณสุข มีใจความดังต่อไปนี้

ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ แจ้งว่า ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ มีมติเห็นชอบให้กำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการเพิ่มใหม่ สายงานสาธารณสุข ตำแหน่ง นักสาธารณสุข ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิโดยกำหนดให้เป็นสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มงานวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ จึงขอให้ ก.พ. แก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ การนับระยะเวลาในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักสาธารณสุขในระดับที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยสิทธิประโยชน์ในการเลื่อน การโอน และการย้าย ที่สูญเสียไปในระหว่างรอการพิจารณากำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง สายงานสาธารณสุข ตำแหน่งนักสาธารณสุข เพิ่มใหม่ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข

โดยกำหนดให้สามารถนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการประเภทวิชาการหรือประเภททั่วไป สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีด้านสาธารณสุขและเป็นผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารสุขชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๖ นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกับตำแหน่งนักสาธารณสุขได้เต็มเวลา ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงาน ก.พ. ขอเรียนว่า ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการไว้ตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา โดยในส่วนของการนับระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลของตำแหน่งประเภทวิชาการได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สรุปได้ดังนี้

1. มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วย คุณวุฒิ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ประเภทตำแหน่ง และระดับตำแหน่ง ตามที่กำหนดและมีคุณสมบัติในเรื่องเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของสายงานต่าง ๆ คุณวุฒิ หรือการอบรมหลักสูตร เพิ่มเติมครบถ้วนตามที่ ก.พ. กำหนดในแต่ละสายงาน เช่น ตำแหน่งนักสาธารณสุข ระดับชำนาญการ กำหนด ว่าจะต้องได้รับคุณวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ สำหรับคุณวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก เป็นระยะเวลา ๖ ปี ๔ ปี และ ๒ ปี ตามลำดับ

2. มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้งตามคุณวุฒิของบุคคลและระดับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้งตามคุณวุฒิของบุคคล ไม่มีหรือมีไม่ครบ ก็อาจพิจารณานำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งของสายงานอื่นของตำแหน่งประเภททั่วไป ประเภทวิชาการ ประเภทอำนวยการ ประเภทบริหาร หรือตำแหน่งอย่างอื่นตามที่ ก.พ. กำหนดมานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกันได้ซึ่งพิจารณาระยะเวลาการปฏิบัติงานตามข้อเท็จจริงของลักษณะงานที่ปฏิบัติงานอยู่จริง

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่ปฏิบัติงานที่จะนำมานับนั้น ต้องเป็นช่วงระยะเวลาที่มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งในส่วนของคุณวุฒิและคุณสมบัติอื่นที่ไม่ใช่ในส่วนของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในประเภทและระดับตำแหน่งด้วย เช่น ตำแหน่งนักสาธารณสุข ระดับชำนาญการ สำหรับคุณวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโทหรือปริญญาเอก ต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวน ๖ ปี ๔ ปี 6 ปีตามลำดับ หากนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปมานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูล จะนับได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของระยะเวลา
ที่นำมานับ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับตำแหน่งประเภทวิชาการทุกสายงาน รวม ๑๕๒ สายงาน อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในบางสายงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกประเด็นและทุกมิติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องเป็นไปตามหลักความเสมอภาคและความเป็นธรรมกับทุกสายงาน ตลอดจนต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบราชการโดยรวม โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสำคัญ