กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง ภาคีเครือข่ายทั้ง 6 องค์กร ร่วมแถลง การจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก 26-29 พ.ย. นี้  โดยเน้นบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จําเป็น

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ อาคาร 8 ชั้น 2 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ร่วมกับ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

นายเดชอิสม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สุขภาพในช่องปากส่งผลกระทบต่อประชากรถึง 3.5 ล้านคน เฉลี่ยร้อยละ 45 ต่อประชากรโลก ซึ่งสูงกว่าโรคติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส แสดงให้เห็นว่าประชาชนในหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็นได้ ปัญหาโรคในช่องปากจึงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขระดับโลก ความสำคัญด้านสุขภาพช่องปากถูกเน้นย้ำในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 7 ซึ่งมีมติว่าสุขภาพช่องปากควรรวมอยู่ในวาระโลก และโรคติดต่อเรื้อรัง จากนั้นได้มีการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลกเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการต่างๆให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสําคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะสุขภาพช่องปาก ที่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ และ คุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน ประเทศไทยถือเป็นผู้นําด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพช่อง ปาก โดยเฉพาะนโยบายการบูรณาการการดูแลสุขภาพช่องปากกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จําเป็น และสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อ การมีสุขภาพช่องปากที่ดี ส่งผลให้นานาชาติมีความเชื่อมั่น และให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุขภาพ ช่องปากโลก ครั้งแรก ในวันที่ 26-29 พฤศจิกายนนี้

รัฐบาลไทย โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง ภาคีเครือข่ายทั้ง 6 องค์กร จึงมีความยินดีเป็นอย่าง ยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนด้านสุขภาพช่องปากและด้านหลักประกันสุขภาพจาก 194 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง

“การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาค ประชาสังคม และเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อให้การประชุมครั้งนี้เกิดผลสําเร็จสูงสุด ในการสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และเท่าเทียม และเป็นเวทีให้ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพช่องปากและ หลักประกันสุขภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมเสนอ นโยบาย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพช่องปากให้ทั่วถึงและเท่าเทียม บรรลุเป้าหมายตาม แผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก พ.ศ. 2566-2573” นายเดชอิสม์ กล่าว

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคในช่องปากเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่พบได้มากที่สุด โดยส่งผลต่อประชากรเกือบ 3.5 พันล้านคนทั่วโลกหรือร้อยละ 45 ของประชากรโลก ซึ่งสูงกว่าโรคไม่ติดต่อ เรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง และผู้ด้อยโอกาส แสดงให้เห็นว่าประชาชนในหลายประเทศยังไม่ สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่จําเป็นได้ สําหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากการสํารวจสภาวะสุขภาพช่องปาก แห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนประสบปัญหาโรคฟันผุและโรคปริทันต์ และประชาชนไทยมี ฟันถาวรใช้งานเฉลี่ยเพียง 19.6 ซี่ต่อคน ในขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม เพียง 15 ล้านคนเท่านั้น แม้ว่าโรคในช่องปากจะพบได้มาก แต่โรคในช่องปากส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ จึงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนทั้งในระดับโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

ขณะที่ ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีผลกระทบแล้วก็ผลกว้างไกลที่จะช่วยให้พัฒนาการดูแลสุขภาพช่องปากของประชากรทั้งโลกจากวิธีการเดียวกันจากหลักการเดียวกันเพราะประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นตัวอย่างที่ดีเนื่องจากความสำเร็จในเรื่องของระบบสุขภาพถ้วนหน้า ที่ครอบคลุมประชาชนทั้งในเรื่องสุขภาพช่องปาก ในเรื่องของการรักษา แล้วก็การให้การรักษาอย่างดี

"ต้องเรียนว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย ถ้ากรมอนามัยไม่ทุ่มเท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักทันตแพทยฯ ทุ่มเทอย่างมากให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกัน หวังว่าการประชุมจะดำเนินการโดยราบรื่น และประสบผลสำเร็จ สุดท้ายเราจะได้สิ่งที่เรียกว่าปริญญากรุงเทพ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากและเป็นประโยชน์ต่อประชากรทั้งโลก" ทพ.อดิเรก กล่าว