"ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข" ยังคงติดตามความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ หลังมติ คณะกรรมการประเมินผลภารกิจโครงสร้าง ฯ เห็นชอบโครงสร้างกำหนดตามกรอบอัตรากำลัง หวังเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้สามารถจัดสรรคนลงตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ทั้ง กระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น
วานนี้ ตามที่มีการประชุมคณะกรรมการประเมินผล ภารกิจโครงสร้าง อัตรากำลัง ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ของหน่วยงานในสังกัด สป.สธ. ซึ่งมีวาระ เกี่ยวกับการพิจารณาจัดคนลงในตำแหน่งนักสาธารณสุข ซึ่งมติ คณะกรรมการประเมินผลภารกิจโครงสร้าง ฯ เห็นชอบในหลักการ และหลักเกณฑ์ตามโครงสร้างการกำหนดกรอบอัตรากำลังสายงาน "นักสาธารณสุข" และจะนำเข้าสู่ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
วันที่ 8 พ.ย. นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า ถือเป็นความคืบหน้าที่ดี และหาก สธ. สามารถจัดคนลงในตำแหน่ง“นักสาธารณสุข” ในปลายปีนี้ได้ ก็จะถือว่าเป็นข่าวดีส่งท้ายปี จะได้จัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง นักสาธารณสุข เสียที และชมรมจะได้ติดตามประเด็นอื่นๆต่อ เช่น เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ พ.ต.ส รวมถึงประเด็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของกระทรวงสาธารณสุขและ ก.พ.ในการปรับเปลี่ยนสายงานของสายงานทั่วไป(เจ้าพนักงาน...) ที่มีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุข สู่สายวิชาการ ในตำแหน่งนักสาธารณสุข ด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของท้องถิ่นเอง ก็มีความคืบหน้า เกี่ยวกับตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เช่นกัน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างและอัตรากําลัง (อ.ก.จ.โครงสร้าง) ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๖ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยจะมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ การกําหนดกรอบอัตรากําลังข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดของสถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี และโรงเรียนพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีการกําหนดกรอบอัตรากําลัง“นักสาธารณสุข” ในวาระเช่นเดียวกัน และหากมติผ่าน คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น ก็จะมีการมีประกาศจัดคนลงในตำแหน่ง“นักสาธารณสุข” ในส่วนของท้องถิ่น เช่นเดียวกัน
"ทางชมรมฯ คาดว่า ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น จะมีข่าวดีจัดคนลงในตำแหน่ง“นักสาธารณสุข” ในช่วงปลายปี 2566 และคงจะมีข่าวดีอื่นๆตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของวิชาชีพเฉพาะออกมาเรื่อยๆ จะได้ถือเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2567 ของผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนอย่างแท้จริง" นายริซกี กล่าว
- 9363 views