ตัวแทนภาคประชาชนเดินทางให้กำลังใจ “หมอธีระวัฒน์” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ หลังถูกตั้งสอบข้อเท็จจริงปมยุติการศึกษาและทำลายเชื้อไวรัสจากค้างคาว ด้าน “หมอฉันชาย”เผยสาเหตุเพราะไม่แจ้งหน่วยงาน เข้าข่ายทำลายทรัพย์สินโดยไม่ผ่านการขออนุมัติ
เมื่อเวลา 10:30 น. วันที่ 1 พ.ย. 66 กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เดินทางมาที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรณีถูกสั่งสอบสวน เหตุยุติการเอาไวรัสจากค้างคาวมาศึกษา และทำลายตัวอย่าง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวก่อนเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวน ว่า ในเวลา 11.00 น. ตนต้องชี้แจงกรณีทำให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียต่อระบบ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะสอบสวนประเด็นใด ซึ่งผิดปกติในการสอบสวน โดยได้ตั้งข้อสังเกตของการสอบสวนเนื่องจากได้ประกาศยุติการศึกษาการนำไวรัสจากสัตว์ป่า โดยเฉพาะของค้างคาวมาศึกษาต่อว่า มีแนวโน้มจะเข้ามนุษย์หรือไม่ ที่ผ่านมา ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ที่ตนเป็นผู้อำนวยการนััน ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2011 ผ่านความเห็นชอบจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ และได้ยุติโครงการเมื่อปี 2020 การศึกษาที่ผ่านมาศึกษาเชื้อไวรัสที่ไม่ทราบชื่อ โดยนำมาถอดรหัสพันธุกรรมดูแนวโน้มว่าจะเกิดโรคได้หรือไม่ ไม่ได้เพาะไวรัสให้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม และไม่ได้ส่งไวรัสเหล่านี้ไปต่างประเทศ และได้เริ่มที่จะทำลายเชื้อในปี 2022 จากนั้น รพ.จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเดือนกรกฎาคม
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มีผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Washington Post สอบถามว่า ทำไมยุติการศึกษาไวรัสจากค้างคาว จึงตอบไปว่า ประการแรก ไม่พบประโยชน์ในการคาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และประการที่ 2 คือความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะที่ลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา อาจติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ จึงกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้
"มีการคาดการณ์จากผลของการสอบสวน อาจจะนำไปสู่การยุบศูนย์ฯ หรือตัวผมเองอาจจะถูกตัดสินให้ออกจากปฏิบัติการในคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แต่เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับประชาชนทุกคนต้องรับทราบความจริง" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า คณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้เป็นการสอบสวนอะไรแต่เป็นการหาข้อเท็จจริง กรณีที่ นพ.ธีระวัฒน์ มีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และมีการเก็บตัวอย่างเชื้อ (Specimens) เอาไว้ตามกระบวนการศึกษาวิจัย แต่ได้มีการทำลายตัวอย่างเชื้อเหล่านั้นโดยไม่ได้แจ้งหน่วยงาน ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญเนื่องจากตัวอย่างหลายชิ้นก็อยู่ในโครงการอื่นของหน่วยงานอื่นนอก รพ.จุฬา ดังนั้นการทำลายตัวอย่างเชื้อถือเป็นการทำลายทรัพย์สิน โดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการขออนุมัติ เพราะหากจะมีการทำลายตัวอย่างเชื้อที่เก็บไว้นั้นก็ควรจะมีการขออนุญาตดำเนินตามขั้นตอน และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง
"ดังนั้นเมื่อตัวอย่างเชื้อนั้นถูกทำลายไปแล้ว เราก็ต้องมาหาว่าเชื้อถูกทำลายไปอยู่ที่ไหน เพราะตัวอย่างเชื้อทุกอย่างมีที่มาที่ไป เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการยุติโครงการอะไร ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าโครงการเหล่านี้มีคณะกรรมการพิจารณาอยู่แล้ว" รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว และว่า ส่วนประเด็นข้อสงสัยอื่นๆ ที่สื่อมวลชนให้ความสนใจนั้น ตนจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในภายหลัง
- 1206 views