ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผย  3 เหตุผล ปมยุติศึกษาและทำลายเชื้อไวรัสจากค้างคาว สาเหตุทำถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมเผยภาพช่อดอกไม้จากกำลังใจของประชาชน

 

ตามที่ตัวแทนภาคประชาชนเดินทางให้กำลังใจ  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    หลังถูกตั้งสอบข้อเท็จจริงปมยุติการศึกษาและทำลายเชื้อไวรัสจากค้างคาวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากการดำเนินการของศ.นพ.ธีระวัฒน์ ไม่แจ้งหน่วยงาน เข้าข่ายทำลายทรัพย์สินโดยไม่ผ่านการขออนุมัตินั้น

(ข่าว: “หมอธีระวัฒน์” เผยปมถูกตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริงกรณียุติศึกษาไวรัสค้างคาว ด้านคณบดีจุฬาฯเตรียมแถลงเร็วๆนี้)

ล่าสุดศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ว่า ทั้งๆที่ได้รับทุนจากสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2020 มากกว่า 300 ล้านบาท ทำไมเราถึงเลิกและยุติการค้นหาไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่า

คำตอบสั้นๆเข้าใจง่าย

1. พิสูจน์ได้ว่าไม่เกิดประโยชน์

2. อันตรายรอบตัวที่เกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสกับสัตว์นำสิ่งคัดหลั่ง กลับมาห้องปฏิบัติการ

3. โอกาสนำไปสู่การติดเชื้อในมนุษย์และแพร่ออกไปยังชุมชน

 

 ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กสวนตัวในลักษณะถือช่อดอกไม้ที่มีผู้เดินทางมามอบให้เพื่อเป็นกำลังใจ พร้อมกล่าวสั้นๆ ว่า

 “ช่อดอกไม้ส่วนหนึ่งที่ให้กำลังใจกับหมอดื้อและขอเชิญชวนให้คนไทยดื้อเพื่อความถูกต้องและความโปร่งใสเที่ยงธรรม นะครับ”

 “กราบขอบพระคุณทุกท่านครับที่ให้กำลังใจและดอกไม้ต่างๆ

ระลึกถึงกำลังใจของทุกคนที่ให้ผมครับ

และขอบพระคุณกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ที่ได้ให้กำลังใจพร้อมทั้งทางกลุ่ม เองก็ได้พยายามให้ความรู้ความเข้าใจในลักษณะเช่นนี้มาตลอด

กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัยและสุขภาพดีดีที่สุดครับ”