รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข หนุนผลิตแพทย์แฟมเมดประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คน ด้าน สบช.ตั้งเป้าเป็น "โรงเรียนแพทย์ด้านปฐมภูมิ" ประเดิมปี 67 ผลิต 3 หมอเป้าหมายสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ 92 แห่ง เป็น"บัณฑิตคืนถิ่น" ฝึกงานที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช 3 ปี ได้เป็นหมอแฟมเมด พร้อมผลิตทีมสุขภาพปฐมภูมิ เปิดคอร์สฉุกเฉินการแพทย์คราวละ 3 พันคน

 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน  นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการนานาชาติการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ ว่า สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ได้ดำเนินโครงการร่วมกับนานาชาติ ในการพัฒนาส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพของเราได้รับรู้ในภาษาที่สองด้วย จะสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแทพย์และสุขภาพต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นความตั้งใจและความสามารถของ สบช. ที่จะตั้งใจผลิตบุคลากรทางสุขภาพให้ได้จำนวนมากและมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการดูแลสุขภาพคนไทย

ไม่มีแพทย์สักคนประจำใน รพ.สต.

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนโยบายมีแพทย์ประจำ รพ.สต. 3 คนต่อแห่งมีการดำเนินการและความคืบหน้าอย่างไร  นายสันติกล่าวว่า ตนเป็นผู้แทนราษฎรมาเกือบ 30 ปีและอยู่ในชนบท ทราบดีว่าคนชนบทมีความเดือดร้อนในการเข้าถึงสถานพยาบาลและแพทย์ เนื่องจากสถานพยาบาลและแพทย์ของเาต้องยอมรับว่าไม่เพียงพออย่างมาก แพทย์ในชนบทจะต้องวิ่งรอกแต่ละห้องในการตรวจรักษาโรค ช่วงบ่ายก็ต้องไปตรวจตามเตียงดูคนไข้ประจำ ขาดแคลนอย่างมาก ในหลายปีที่ผ่านมาเราปรับสถานีอนามัยฯ เป็น รพ.สต. แล้วปัจจุบันแพทย์ประจำ รพ.สต.อยากใช้คำว่าไม่มีเลยสักแห่งเดียวเลยที่ประจำ จึงจำเป็นมากต้องหาทางออกเรื่องนี้

นโยบายผลิตแพทย์ รพ.สต.ละ 3 คน ต้องมีหมอรองรับ 3 หมื่นคน

ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับผู้บริหาร สธ. ว่าต้องเร่งรัดและผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับประชาชนในชนบท คือ รพ.สต.ละ 3 คน ทั่วประเทศรวม กทม.มีประมาณ 1 หมื่น รพ.สต. ต้องใช้แพทย์ถึง 3 หมื่นคน แล้วการผลิตแพทย์ไม่ใช่คิดวันนี้ปีหน้าได้ แพทย์คนหนึ่งต้องฝึกจนมีความรู้ความสามารถสอบได้ออกมาดูแลประชาชน ใช้เวลาถึง 6 ปี

คาดผลิตหมอ 3 หมื่นคน ใช้เงิน 1.5 แสนล้าน ถือว่าคุ้มค่าสูง

"ใน 3 หมื่นคนจะเร่งให้ สบช.เป็นหลักในการขับเคลื่อน ปีหนึ่งจะเพิ่ม 5 พันคน โดยจะผลิตแพทย์ในท้องถิ่นของเราตามสัดส่วนโควตาแต่ละจังหวัด คัดคนสอบคนของจังหวัดตนเอง เอาคนที่เก่งสุดในมัธยมปลายไปสอบเรียนแพทย์ตามโควตา เมื่อจบแล้วก็จะมาดูแลในพื้นที่ของเขา โดย 3 หมื่นคน คำนวณใช้เงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หาร 6 ปี ใช้เงินเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ผมและ สบช.ศึกษาแล้วว่าคุ้มค่าอย่างสูง สำหรับค่าใช้จ่ายนี้ สบช.เกรงว่างบจะไม่เพียงพอ ผมจึงรับปากว่าจะไปต่อสู้ทำความเข้าใจกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ เป็นการลดต้นทุนการดำรงชีพของประชาชนในชนบทที่จะเข้าหาหมอได้อย่างมากมายมหาศาล" นายสันติกล่าว

 

สบช.ผลิตหมอเวชศาสตร์ครอบครัวรองรับ

ด้าน ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดี สบช. กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดผลิตบุคลากรปฐมภูมิให้กับประเทศ มอบหมายให้ สบช.ผลิตบุคลากรรองรับหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  เรามีการเสนอ 2 โครงการ คือ

ปี 67 ผลิต 3 หมอเป้าหมายสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ 92 แห่ง  

1.โครงการผลิตบุคลากรสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการ 3 หมอ ซึ่งปี 2567 เป็นปีแรกที่เราจะผลิตบุคลากรแพทย์ 3 หมอก่อน เป้าหมายคือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ 92 แห่ง เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แห่ง จะเป็นจุดแรกที่จะผลิตแพทย์ไปอยู่แห่งละหรือจังหวัดละ 1 คน เพื่อเป็นต้นแบบและเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง ผ่านโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) โดยเลือกเด็กจากท้องถิ่นที่มีสถานีอนามัยฯ เช่น อยู่เพชรบูรณ์ก็เอามาจากเพชรบูรณ์ อยู่น่านก็เอามาจากน่าน มาคัดเลือดหรือสอบ TCAS ตามปกติ มีการปลูกฝังทัศนคติเด็กที่มาเรียนให้ชัดเจนว่า เป็นบัณฑิตที่จบแล้วอยู่สถานีอนามัยฯ และเป็นแพทย์ครอบครัว เป็น "บัณฑิตคืนถิ่น" โดยไปฝึกงานที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช 3 ปี เพื่อเป็นหมอครอบครัว เฟสต่อไปแผน 10 ปีจะผลิตรองรับ รพ.สต.ส่วนที่เหลือ 9.8 พันแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 10% โดยวางแผน 9 หมอจะครบ 100% ใน 10 ปี ครอบคลุมครบทุกสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต.

ปรับค่าตอบแทนให้หมอเพียงพออยู่ได้

"เราจะทำโดยเสนอผ่านปลัด สธ. เพื่อเข้า ครม. ดำเนินการในปี 2567 เป็นต้นไปในโครงการซีเพิร์ดมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อหมดแล้วก็จะต่ออีก เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเป็นครั้งแรกของไทย เราต้องการให้บัณฑิตอยู่ในระบบให้ได้ เด็กที่มาสมัครเรียนกับเรา ก็อยากให้เป็นข้าราชการ นับอายุราชการครั้งแรก เมื่อจบแล้วไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่กับ สธ.หรือโอนไปท้องถิ่น ก็ให้ได้รับเงินตามนั้น และค่าตอบแทนเงินเดือนต่างๆ ก็ให้อยู่ได้ คือเป็นโครงการพิเศษ และการทำงานทีมสุขภาพเยี่ยมบ้านเชิงรุกได้ค่าตอบแทนต่างๆ ในระบบบริการก็ใช้เทเลเมดิซีน แนวทางการพัฒนาสถานีอนามัยก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อแพทย์จบไปแล้วทำงานได้" ศ.นพ.วิชัยกล่าว

เดินหน้าผลิตทีมสุขภาพปฐมภูมิ เตรียมเปิดคอร์สฉุกเฉินการแพทย์คราวละ 3 พันคน

ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า 2.โครงการผลิตทีมสุขภาพปฐมภูมิ Primary Health Innovation Team มีแพทย์ พยาบาลครอบครัว พยาบาลชุมชน นักวิชาการสาธารณสุข อสม.ที่เรียนต่อผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข โดยปีหน้าจะมีการเปิดคณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด รวมถึงแพทย์แผนไทย และจะเปิดเรียนด้านฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งเราต้องการให้มีฉุกเฉินการแพทย์ทุกสถานีอนามัยฯ/รพ.สต. แต่ในกรอบของเราจะผลิตคราวละ 3 พันคน และจะมีโครงการแซนด์บ็อกซ์มาเสริม เนื่องจากฉุกเฉินการแพทย์ กว่าชาวบ้านจะมาจะไปต้องหารถราเดินทางไกล เราก็จะมีระบบตั้งแต่เกิดเหตุ การขนส่งได้ทันที เพื่อลดความพิการและตาย

สสส.หนุนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขรับมือโรคภัย

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยของปัญหาสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่ต้องพัฒนาศักยภาพ ทักษะบุคคลการด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับปัญหาโรคต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองการขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บุคลากรสุขภาพ นำร่องในเขตบริการสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ ร่วมกับ สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) มีบุคลากรด้านสุขภาพเข้าร่วมในกระบวนการเป็นบุคลากรต้นแบบกว่า 500 คน พัฒนาให้เกิดศูนย์กลางทางวิชาการผลิตบุคลากรสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยสนับสนุนการศึกษาแบบสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการจัดการความรู้ในพื้นที่ ส่งเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรมการจัดการศึกษา และการบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ติดตามประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Public Health Emergency) ตลอดจนต่อยอดองค์ความรู้ งานวิจัยและวิชาการ ด้านการพัฒนาการศึกษาสุขภาพ และพัฒนาช่องทางสื่อสารสาธารณะ