เส้นทาง หมอเวชศาสตร์ครอบครัว..

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังเกิดปัญหา "การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์" แม้การแก้ไขปัญหาจะถูกเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่าง การผลิตเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล และสาขาวิชาชีพต่างๆที่ยังขาดแคลน ซึ่งหนึ่งในวิชาชีพที่ต้องพูดถึงนั่นคือ "หมอเวชศาสตร์ครอบครัว"  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาน...

เมื่อถามว่า...ทำไมถึงเลือกเป็น "หมอเวชศาสตร์ครอบครัว"... 

สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.อนุชิต หิรัญกิตติ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี โดยเล่าว่า จริงๆมันเป็นจังหวะชีวิตเหมือนกันที่ตอนเป็นหมอเวชปฏิบัติทั่วไป หรือใช้คําว่า general practitioner(GP) ต้องไปทํางานอยู่กับหน่วยบริการหลายๆระดับ และประมาณ 10 ปีย้อนหลัง มีโอกาสทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนและท้องถิ่นด้วย ซึ่งได้ไปออกตรวจเจอชาวบ้านเจอคนไข้จริงๆในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมเมื่อเรียนในโรงเรียนแพทย์จะเห็นแต่ ระบบในโรงพยาบาลที่ว่า คนไข้มานั่งรอตรวจมาทําอะไรต่างๆนั้น ภาพมันจะคนละแบบกันเลย

"จากนั้นเราก็เริ่มสงสัยและเกิดคำถามกับตัวเองว่า.. จริงๆ "ระบบสุขภาพ" เราออกแบบมาลักษณะไหนบ้าง แต่มันก็ยังเป็นคําถามที่ยังไม่มีคําตอบ จนกระทั่งมีโอกาสได้รับตําแหน่งเป็น ผู้อํานวยการโรงพยาบาลชุมชนไม่ถึงปี จึงได้เห็นภาพว่าจริงๆแล้วยังมีคนอีกกลุ่มใหญ่ๆของสังคมที่หลายๆครั้งยังเข้าไม่ถึงระบบบริการ"

ในตอนนั้นมีโครงการหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้จักเลยว่าเวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร และผมคิดว่าในปัจจุบันหลายๆคนก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร...ผมรู้แค่ว่า เป็นหมอที่ไปออกตรวจ รพ.สต. เพราะว่าคนไข้เดินทางลำบากก็เลยให้ไปรวมกันตรวจที่ รพ.สต. พอตรวจเสร็จครึ่งวันก็กลับมาโรงพยาบาลทํางานต่อ ซึ่งทำแบบนี้เป็นประจํา จนกระทั่งมีโครงการของกระทรวงสาธารณสุข สปสช. รวมถึงราชวิลัยเวชศาสตร์ครอบครัวอยากจะผลิตแพทย์ ที่เรียกว่า  In-service Training ก็คือแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยไม่ต้องเข้ามาเรียนในโรงเรียนแพทย์เหมือนในสาขาเฉพาะทางทั่วไป จึงมีความสนใจและตอนนั้นได้ตัดสินใจออกจากการเป็น ผอ.โรงพยาบาล เพื่ออยากลองมาเรียน

นพ.อนุชิต เล่าต่อว่า จากนั้นได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจริงๆแล้วเริ่มต้นจากทางฝั่งยุโรปที่มีแพทย์ประจำอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อดูแลประชากร แล้วก็ดูแลแบบต่อเนื่องเป็นหมอประจําตัวคนไข้โดยเฉพาะแถวแคนาดา ผมก็เลยสงสัยว่าระบบสุขภาพมันไม่ค่อยเหมือนกับบ้านเรา ยิ่งทำให้อยากไปเรียนรู้ ซึ่งก็ลังเลอยู่ว่าจะไปเรียนเฉพาะทางสาขาอื่นดีหรือไม่..เพราะผมชอบทุกอย่างเลยไม่รู้จะเลือกอะไรดี  จึงตัดสินใจเรียนหมอทั่วไปเพราะมันจะได้ทําหลายๆเรื่อง ต่อมาพบว่า "หมอเวชศาสตร์ครอบครัว" นั้นมันทําได้ทุกเรื่องคล้ายกับเป็นหมอทั่วไป แต่มีความลึกซึ้งเรื่องของวิชาการมากกว่า และดูแลคนไข้ในลักษณะที่เป็นแบบแฟมิลี่ จึงสนใจและสมัครเรียนไป

ตัดสินใจเรียน"หมอเวชศาสตร์ครอบครัว"

ต่อมาเรียน "หมอเวชศาสตร์ครอบครัว" อยู่ 3 ปี ซึ่งพื้นที่ที่เรียนและปฏิบัติงานนั้น คือ รพ.สต. เพราะฉะนั้นเราก็คุ้นเคยกับ รพ.สต.อยู่แล้ว แต่ยังรู้จักแค่ผิวเผิน จะไปตรวจเบาหวาน โรคเรื้อรัง แล้วก็กลับโรงพยาบาล แต่พอมาเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว จะมีหลักสูตรสอนเพิ่มนอกจากการรู้ว่าโรคนี้รักษาอะไรยังไงนั้น อีกวิชาที่ผมไม่เคยเรียนมาก่อน เป็นเรื่องของการรักษาที่เป็นจิตวิทยา เรื่องของระบบสุขภาพ เรื่องของการเข้าใจคนมากขึ้น ผมว่าศาสตร์พวกนี้มันคล้ายกับตอนที่เราทํางานแล้วเราก็ตั้งคําถามว่า...ทําไมเราไม่เคยเรียนเรื่องพวกนี้เลย อย่างการสื่อสารกับประชาชน มันมีหลายเรื่องที่จริงๆแล้วมันมีศาสตร์และองค์ความรู้บางอย่างที่เป็นเรื่องสําคัญมาก กลายเป็นว่าตอนเรียนเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆเหมือนดูหนังที่ตอนแรกธรรมดาแต่พอเรียนไปเรียนมาเวชศาสตร์ครอบครัวสอนให้รู้จักชีวิตคนมากขึ้น เริ่มรู้จักวัฏจักรชีวิตของมนุษย์  เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ละระยะของชีวิตเป็นยังไง.. การเข้าไปทําความเข้าใจเป็นยังไง.. การสื่อสารเพื่อการเข้าใจคนอื่นเป็นยังไง.. มันเหมือนกับสอนหมอให้เป็นหมอมากขึ้น ซึ่งเดิมเราเหมือนกับ แพทย์เป็นนักรักษา ที่รู้แต่ว่าโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง โรคไต รักษาโดยวิธีไหนใช้ยาอะไร แต่เราไม่ได้เรียนทางด้านเกี่ยวกับมิติของของมนุษย์เลย

ปรากฏว่าระหว่างเรียนก็มีโอกาสนำเอาความรู้เวชศาสตร์ครอบครัวมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานด้วย เอามาสื่อสารกับชาวบ้าน สื่อสารกับทีมในพื้นที่ รวมทั้ง อสม.ด้วย เราเรียนอะไรได้ก็เอาไปสื่อสารให้ อสม.โดยตรง อย่างปีแรกเรื่องที่นำมาทดลองสื่อสาร คือ เรื่องเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนและเครื่องมือในการเข้าใจชุมชน อย่างเช่น แผนที่เดินดิน แผนผังครอบครัว เพื่อจะทําความเข้าใจครอบครัวให้มากขึ้นเข้าใจประชาชนมากขึ้นเข้าใจพื้นที่ที่เราเข้าไปอยู่มากขึ้น ให้ไปสำรวจดูว่ามีปัจจัยสุขภาพอะไรที่ในชุมชนที่มีความเสี่ยง จะมีการวางแผนจัดการยังไง

"ซึ่งสิ่งนี้เหมือนสิ่งที่เรากําลังตามหามานานว่า จะเข้าใจระบบสุขภาพและจะทําให้ระบบสุขภาพของบ้านเราดีขึ้นได้อย่างไร ผมว่าพื้นฐานจริงๆนั้น คือการเข้าใจชุมชนที่ตัวเองอยู่ก่อน แล้วค่อยค้นหาปัจจัยของปัญหาและช่วยกันระดมความเห็นของพื้นที่ในการจัดการปัญหา"

การเป็น "หมอ" ไม่ใช่แค่การรักษาโรค...

ยกตัวอย่าง คนไข้เคสแรกที่ผมเจอคือเด็ก 10 ขวบมีแผลที่ศีรษะ คุณครูพามาที่ รพ.สต.บอกว่าเด็กมีแผลมาจากบ้าน เห็นว่าคุณหมอมาอยู่รพ.สต.เลยอยากให้เย็บแผลให้หน่อย ผมเลยสงสัยว่าทําไมมีแผล เกิดอะไรขึ้น ซึ่งครูก็งงเหมือนกัน เลยสงสัยว่ามีอะไรหรือเปล่า ทําไมอยู่ๆเด็กมีแผลเต็มไปหมดเลย ทั้งแผลเก่าแผลใหม่ จากเราเริ่มคุยกับอสม.เริ่มหาข้อมูลว่าเด็กคนนี้เจออะไรมีปัญหาอะไร จนทราบว่ามีการทําร้ายกันในครอบครัวโดยเด็กโดนแม่เลี้ยงทําร้ายทุกวัน เรื่องนี้ผมมองว่ามันคือปัญหาของชุมชน ซึ่งเดิมตอนเป็นแพทย์ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้สนใจแต่ว่าจะทําแผลยังไงเย็บแผลรักษาดูแลแผล จบแค่การดูแลให้จบๆไปเป็นเรื่องๆ

แต่ตอนนี้เราเริ่มสัมผัสชุมชนมากขึ้น รู้เรื่องราว รู้วัฒนธรรมการเป็นอยู่หรือเข้าใจคนมากขึ้น มันจะอยากรู้ว่าปัญหาสุขภาพคนเกิดจากอะไร แล้วทําไมถึงเกิด จะต้องจัดการป้องกันแก้ไขอะไรยังไงบ้าง ปัญหาที่เล่ามาข้างต้นนั้น เรามีการทํางานเป็นเครือข่ายไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ,ท้องถิ่น ฯลฯ แล้วก็มีการจัดการทางเชิงกฏหมายจนเด็กได้รับการดูแลจากแม่แท้ๆนั่นเอง

กลายเป็นการจุดประกายให้ผมคิดได้ว่า การเป็นหมอมีอะไรมากกว่าแค่การรักษาโรค และตรงนี้เป็นจุดสําคัญที่ทําให้ผมเริ่มเข้าถึงการเป็น หมอเวชศาสตร์ครอบครัว มันรู้สึกว่ามีความแปลกใหม่ รู้สึกว่าเรามีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม "จากที่เคยเห็นคนเป็นแผลก็แค่เย็บแผลกินยาฆ่าเชื้อให้ครบดูแลแผลให้หายแล้วก็จบไม่รู้จักกันอีกต่อไป" แต่มาเป็น หมอเวชศาสตร์ครอบครัว มันเหมือนกับว่ารู้จักกันยาวๆดูแลกันต่อเนื่องเริ่มต้นตั้งแต่แรกที่รู้จักจนกระทั่งว่าระยะท้ายของประชาชนเลยด้วยซ้ำ นพ.อนุชิต กล่าว