“หมอชลน่าน” เร่งแก้ปัญหาหมอขาดแคลน สนับสนุนให้สถาบันพระบรมชนก "ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว"และทีมนวัตกรรมสุขภาพ ดูแลคนในชุมชนทุกกลุ่มวัยแบบองค์รวม ตั้งเป้า 10 ปี ผลิตได้ 30,000 คน เริ่มปี 67 ให้มีหมอประจำ สอน. 92 แห่ง พร้อมเตรียมปรับค่าตอบแทนให้หมออยู่ได้
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และสถานีอนามัยพระราชทานนาม (สอ.พระราชทานนาม) สู่ความเป็นเลิศ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 ระหว่าง สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษ นวมินทราชินี (สอน.), ศ.พิเศษ นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดี สบช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวในบางช่วงว่า ปี 2567 สบช. จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด และในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2568-2577 แผนระยะยาว 10 ปี จะขยายการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพได้ครบ 9 คนต่อ 1 สถานีอนามัย/รพ.สต. และครอบคลุมทั้ง 9,820 แห่ง ทั่วประเทศต่อไป
“สิ่งสำคัญคือ การเตรียมปรับค่าตอบแทนให้เพียงพอเพื่อให้หมออยู่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นแผนที่ สธ. จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2567 ต่อไป นอกจากนั้น ยังมีแนวทางในการจูงใจให้มีการเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ โดยทาง สธ. จะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาให้ผู้เรียนมีอายุราชการตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เหมือนนักเรียนทหารหรือนักเรียนตำรวจ เรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในสิ่งจูงใจในการผลิตแพทย์ ซึ่งเป้าหมาย 10 ปี เราตั้งเป้าผลิตแพทย์ไว้ที่ 30,000 คน ทีมนวัตกรรมสุขภาพ 55,000 คน ซึ่งหากทำได้เราจะสามารถก้าวผ่านปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ ”
ทั้งนี้ การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมผลักดันให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ สามารถขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงานในวันนี้ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการเห็นประชาชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งการแพทย์ปฐมภมูิจะเป็นสิ่งตอบโจทย์เรื่องนี้ ในคำพูดที่ว่า สุขภาพเป็นธรรมเข้าถึงเท่าเทียม
และต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือการดูแลระดับปฐมภมูิก่อนที่จะเป็นการส่งต่อไปโรงพยาบาล และส่งไปรักษาโรคเฉพาะทางต่อไป ถ้าเราทํามิติระดับปฐมภมูิดี สุขภาพกาย สุขภาพใจ สติปัญญาสุภาพสังคมจะดี การเจ็บป่วยก็เป็นสภาวะที่ควรจะเป็น การดูแลในระยะท้ายหรือระยะสูงวัย ก็จะเป็นไปด้วยความพร้อม และนี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง และหวังว่าสิ่งที่เรามาร่วมกันวันนี้ มันจะประสบความสําเร็จในสิ่งที่เรามุ่งหวังเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
- 5518 views