รมว.สาธารณสุข จ่อลงนามหนังสือถึงรองนายกฯ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ปธ.ประชุม ก.ก.ถ. 1 พ.ย.นี้ ปมถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ. เหตุบุคลากร 5 หน่วยงานสังกัดสธ.ไม่ได้อยู่ในภารกิจปฐมภูมิ ไม่ควรถ่ายโอน แต่หากประสงค์ไปขอให้เป็นการโอนย้าย เล็งเสนอที่ประชุมขยายเวลาส่งรายชื่อคนถ่ายโอนปีงบประมาณ 68 จนกว่าจะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ถ่ายโอนบุคลากรแล้ว
จากกรณีข้อเห็นต่างระหว่างประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทางกระทรวงสาธารณสุขปมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการฯเห็นว่าการถ่ายโอนไม่ควรจำกัด 5 หน่วยงานในสังกัดสธ. คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เนื่องจากมีมติที่ประชุมให้ดำเนินการได้ แต่ทางสธ.มีหนังสือให้บุคลากรใน 5 สังกัดกลับมาปฏิบัติงานตามเดิม ขณะที่ชมรมรพศ.รพท.ไม่เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ จนเกิดความขัดแย้งทางความคิดในพื้นที่กันมากนั้น
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นปัญหาการถ่ายโอนรพ.สต. ไปอบจ. และจะมีการหารือในการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ก.ก.ถ.) ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เป็นประธาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นข้อเสนอในลักษณะเป็นคำถาม
โดยหลักคือ เมื่อตนเข้ามาดูแลกระทรวงสาธารณสุข 1.มีความเชื่อมั่นในการกระจายอำนาจ ถ้าพี่น้องประชาชนได้เข้าไปใช้บริการ โดยเฉพาะภารกิจหรือกิจการทางด้านสาธารณะที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าประชาชนจะได้รับการดูแลที่ดี 2.การกระจายอำนาจ โดยเฉพาะมิติการแพทย์และสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงชีวิต ร่างกาย การเจ็บป่วย หรืออันตรายที่ส่งผลต่อร่างกาย ต่อชีวิต เพราะฉะนั้น จึงต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางว่าจะได้รับบริการไม่น้อยกว่าเดิม หรือดีกว่าเดิม 3.เรื่องระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ต้องพูดคุยกัน เพื่อให้เอื้อและตอบโจทย์ข้อ 1 และข้อ 2 ที่กล่าวข้างต้น ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ที่สำคัญเรื่องหลักเกณฑ์ที่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ก็ต้องสมัครใจจริงๆ เราก็เอาสิ่งเหล่านี้เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ.
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนังสือที่จะมีการลงนามถึงประธาน ก.ก.ถ. มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นลักษณะการตอบคำถามของทางสธ. เพียงแต่เราต้องทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม โดยหลักก็ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่า ในรายละเอียดของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ในหลักเกณฑ์ต่างๆ ต้องมาพิจารณาว่าสอดคล้องสอดรับกับแนวทางหลักเกณฑ์กระจายอำนาจของ ก.ก.ถ.จริงหรือไม่
ถามถึงกรณีชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ออกแถลงการณ์คัดค้านการโอนย้ายบุคลากร 5 หน่วยงานไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. นพ.ชลน่านกล่าวว่า 5 หน่วยงานนี้ ถ้าตีความแล้วไม่ใช่บุคลากรของ รพ.สต. เป็นบุคลากรภายนอกหน่วยงานการปฏิบัติของรพ.สต.
“อย่าง 5 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ถ้าตีความแล้วกลุ่มดังกล่าว ไม่ใช่บุคลากรของ รพ.สต. แต่หากมีความประสงค์ไปทำงานใน รพ.สต. จะไม่ใช่การถ่ายโอน แต่ต้องเป็นระเบียบของการโอนย้ายตามปกติ ซึ่งเรายินดีและสนับสนุน ขอเพียงต้องถูกต้องตามระเบียบ หากทำผิดระเบียบคนปฏิบัติงานก็โดนม.157 ดังนั้น เรื่องระเบียบต้องรัดกุม” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่า วันนี้ได้ลงนามหนังสือถึงประธาน ก.ก.ถ. เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมวันที่ 1 พ.ย.นี้ แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้เป็นการหารือกับภาคส่วนเกี่ยวข้องของสธ. เพื่อลงนามในหนังสือ และเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่รัฐมนตรีว่าการสธ. จะลงนามถึงประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เป็นประธาน เป็นข้อเสนอการถ่ายโอนฯ โดยหลักเป็นการสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ครั้งที่8/2566 และนำเสนอปัญหาผลกระทบต่อประชาชนจากการถ่ายโอน รวมไปถึงผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ โดยข้อเสนอหลัก คือ บุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิ มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) รพ.ชุมชน(รพช.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป(รพศ.รพท.) จำนวน 222 ราย ควรใช้วิธีการโอนย้ายตามกฎ ก.พ. ซึ่งไม่ใช่การถ่ายโอนบุคลากร เนื่องจากตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาตามแนวทางความเห็นของผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ในการประชุม ก.ก.ถ.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เห็นว่า บุคลากรดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ จะกระทบกับการให้บริการแก่ประชาชนในโรงพยาบาลได้ อีกทั้ง คู่มือแนวทางการถ่ายโอนไม่ได้ระบุเอาไว้
ส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิที่สมัครใจและมีความประสงค์ถ่ายโอนไปยังรพ.สต.สังกัด อบจ. คือ กรณีรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 766 ราย เห็นว่าถ่ายโอนได้กรณีที่ขอถ่ายโอนไปยังรพ.สต.เดิมที่เคยปฏิบัติงาน และต้องไม่กระทบกับการให้บริการของรพ.สต.ที่ปฏิบัติงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ สธ. เสนอให้ขยายระยะเวลาการส่งรายชื่อผู้ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จนกว่าจะมีการแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- 5350 views