เขตสุขภาพที่ 4 ป่วยโรคซึมเศร้า 110,317 คน รับบริการแล้ว 110,305 คน หรือ 99.99% โดยมีการจัดบริการ/นวัตกรรม เพิ่มการเข้าถึงการรักษา ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายร้อยละ 4.93 ต่อแสนประชากร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 5.9 ต่อแสนประชากร ปี 2567 วางแผนคัดกรองเพิ่มในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง พร้อมรณรงค์ให้ครอบครัวและชุมชน เฝ้าระวังสังเกตสัญญาณเตือน

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี นครนายก ได้เข้ารับการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รอบที่ 2 ปี 2566 มีผลการดำเนินงานก้าวหน้าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นผลงานเด่นในระดับเขต

 

เขตสุขภาพ 4 รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 99.99% 

โดยข้อมูลล่าสุด จากฐานข้อมูล HDC (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) ผู้ป่วยซึมเศร้าในเขตสุขภาพที่ 4 มีจำนวน 110,317 คน เข้าถึงการรับบริการได้จำนวน 110,305 คน คิดเป็นร้อยละ 99.99% โดยทั้ง 8 จังหวัดมีการดำเนินงานและนวัตกรรม เช่นที่ จังหวัดสระบุรี โดยโรงพยาบาลพระพุทธบาท ได้ดำเนินการจัดระบบบริการจิตเวชฉุกเฉิน ร่วมบูรณาการกับเครือข่ายในพื้นที่ นำส่งผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก่อความรุนแรงเข้าสู่ระบบรักษา ระบบส่งต่อ และยังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จังหวัดนนทบุรี นครนายก ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา จัดจิตแพทย์ออกให้บริการตรวจรักษาในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง จังหวัดสิงห์บุรีมีการดำเนินงานผ่านกลไกคณะอนุกรรมการฯสุขภาพจิตระดับจังหวัด โรงพยาบาลนครนายก มีการเฝ้าระวังผ่าน QR Code/โทรศัพท์ ในบัตรนัด เพื่อผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลได้อย่างต่อเนื่อง และโรงพยาบาลสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ใช้นวัตกรรม “ผ้ายันต์ป้องกันการฆ่าตัวตาย” ซึ่งมีรายละเอียดวิธีการเฝ้าระวังและป้องกันรวมถึงช่องทางให้ความช่วยเหลือ  

นอกจากนี้ เขตสุขภาพที่ 4 ยังสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ร้อยละ 4.93 ต่อแสนประชากร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 5.9 ต่อแสนประชากร จากการวิเคราะห์สถานการณ์การฆ่าตัวตายในเขต ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 - มิถุนายน 2566 พบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มาจากหลายปัจจัยทั้งโรคประจำตัวทางกาย ได้แก่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง และโรคทางจิตเวช ได้แก่ ซึมเศร้า จิตเภท ส่วนมีปัจจัยกระตุ้นสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ ร้อยละ 33.33 (ทะเลาะกับคนใกล้ชิด และน้อยใจที่ถูกดุด่า) ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 27.48 และปัญหาจากการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังทางกายและจิตใจ ร้อยละ 23.4 และยังมีประวัติเป็นผู้ที่เคยทำร้ายตนเอง และการส่งสัญญาณบ่งบอกว่าจะทำร้ายตนเองด้วย

10 สัญญาณเตือนทำร้ายตัวเอง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น เขตสุขภาพที่ 4 ได้มีการวางแผนเพิ่มการคัดกรองในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง และรณรงค์ในชุมชน ครอบครัว เฝ้าระวังสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 สัญญาณ ดังนี้

1. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ

2. ใช้สุราหรือยาเสพติด

3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย

4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร

5. นอนไม่หลับเป็นเวลานาน

6. พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง

7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ

8. พูดว่าอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่

9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง จัดการทรัพย์สิน เป็นต้น และหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย รับฟัง และให้ความช่วยเหลือ เพื่อเข้าสู่ระบบรักษาโดยเร็ว