รมว.สาธารณสุข รับทราบปัญหากรณี ‘นิมิตร์’ เผยเคสผู้ป่วยกาญจนบุรีเดือดร้อนกว่าจะได้รักษา รับยาที่รพ.ชุมชน ต้องกลับไปเอาใบส่งตัว รพ.สต. เหตุงบประมาณถูกโยก ทำระบบเปลี่ยนเปลี่ยน ลั่น! ต้องแก้ไข สั่งการจัดระบบอย่าให้ประชาชนเดือดร้อน ชี้ ‘บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ’ จะช่วยอุดช่องโหว่ รอยต่อระหว่างหน่วยงาน ส่วนจะนำเข้าประชุมนัดแรก 24 ต.ค.หรือไม่รอพิจารณา
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการนำเรื่องดิจิทัลสุขภาพเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ว่า ในการประชุมมีการติดตามงานต่างๆ หนึ่งในนั้นมีเรื่องดิจิทัลสุขภาพ ซึ่งมีทีมพัฒนาส่วนกลางร่วมกับ รพ.ในพื้นที่พัฒนางานด้านดิจิทัล จัดทำเกณฑ์ รพ.อัจฉริยะ ครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มั่นใจในการประกาศใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทุกแห่งตามที่ตั้งใจประกาศนำร่อง ซึ่งเรื่องนี้จะมีการนำเสนอในการประชุม “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” โดยเลขานุการคณะกรรมการฯ จะประชุมกับของกระทรวงสาธารณสุข มีท่านปลัดสธ.เข้าร่วมประชุมในวันนี้(11 ต.ค.) ก่อนจะมีการประชุมบอร์ดนัดแรกในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาถึงการยกระดับการใช้บัตรประชาชนใบเดียว
เล็งพิจารณาชงเข้าบอร์ดสุขภาพฯได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ออกมาเสนอให้บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ช่วยแก้ปัญหารอยต่อที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ. เนื่องจากมีการโยกงบประมาณผู้ป่วยนอกไปท้องถิ่น ทำให้คนไข้เดือดร้อนมีปัญหาต้องขอใบส่งตัวจากรพ.สต.เพื่อรักษารพ.ในกระทรวงฯแทน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องการถ่ายโอนฯ จะมีคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ และคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ทำเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ปัญหาต่างๆจะต้องนำเข้าสู่การประชุมหารือของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นในแง่ของการบูรณาการร่วมกัน การแก้ปัญหาร่วมกัน ก็สามารถนำเข้าการหารือได้ เพราะโดยหลักตั้งขึ้นมาก็เพื่อต้องการอุดรอยรั่วการทำงานระหว่างหน่วยงาน
“ตอนนี้เสมือน สธ.และท้องถิ่น ทำงานเหมือนมีข้อขัดข้องก็อาจเข้าได้ แต่ต้องพิจารณาก่อนว่า ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ จะมีการวางระเบียบวาระมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ทางเลขาฯ จะมีการประชุมจัดเตรียมวาระการพิจารณา” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำเรื่องประเด็นถ่ายโอนตลอดว่า การถ่ายโอน เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นเรื่องการกระจายอำนาจ ตราบใดกฎหมายบังคับใช้ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร อย่างระยะที่ 1 และระยะที่ 2 หากสำเร็จก็เข้าระยะที่ 3 ซึ่งยังไม่กำหนดระยะเวลา มีการกำหนดทบทวนทุก 5 ปี อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนต้องดำเนินการต่อ แต่หน่วยรับถ่ายโอน ต้องเป็นท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูงขึ้น คือ อบจ. จึงเป็นแนวทางการถ่ายโอน 2564 เกิดขึ้น และมีการถ่ายโอนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยหลักการถ่ายโอนก็จะมีการถ่ายโอนภารกิจ ถ่ายโอนคน ถ่ายโอนสิ่งของ ที่สำคัญเงื่อนไขการถ่ายโอนต้องอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ ปรากฎว่า กระบวนการถ่ายโอนมีบุคลากรส่วนหนึ่งไม่ประสงค์ถ่ายโอน สถานบริการไม่แจ้งประสงค์ถ่ายโอนเช่นกัน
ต้องแก้ปัญหาถ่ายโอนรพ.สต.ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า อย่างปี 2566 มีสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.ถ่ายโอนไป 3,235 แห่ง มีบุคลากรแจ้งไป 25,000 คน ประมาณ 11,000 คนเป็นข้าราชการ เมื่อมีการแจ้งความจำนงถ่ายโอนมีข้าราชการประมาณ 200 คนประสงค์ขอกลับ และมีกลุ่มที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน โดยต้องการอยู่สธ. ขณะนี้เรากำลังหาตำแหน่งมารองรับคนที่อยู่ ดังนั้น เราจะเห็นว่า การจัดบริการบางแห่งคนไม่พอ บุคลากรลดลง การสนับสนุนยาเวชภัณฑ์ต่างๆ เดิมมีการเชื่อมโยงรพ.ชุมชน สถานีอนามัยก็ตัดไป จึงทำให้ต้องมีการไปรักษาที่รพ.ชุมชน
“นี่คือปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจริง ผมตั้งใจต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ โดยอยู่บนพื้นฐานว่า ขณะที่มีการถ่ายโอนต้องยึดเงื่อนไขความสมัครใจ ความพร้อม และต้องยึดประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการ เขาต้องไม่รับผลกระทบ การถ่ายโอนที่ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือขาด ต้องไม่เกิดขึ้น ต้องทำให้ดี ส่วนการบริหารจัดการ กลไกจัดการตำแหน่ง เป็นเรื่องการบริหาร ซึ่งต้องไม่เกี่ยวกับการบริการ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
เมื่อถามอีกว่า แต่ขณะนี้มีประชาชนไปรับบริการรพ.ชุมชน ต้องกลับไปเอาใบส่งตัวที่รพ.สต. กลายเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ไม่สามารถใช้ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็ต้องแก้ปัญหา โดยข้อมูลจะต้องมีการเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าสังกัดหน่วยงานไหน การให้บริการประชาชนจะต้องเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล
ตอบข้อสงสัยทำไมไม่มีชื่อในบอร์ดครบทุกสาขาวิชาชีพ
“ มีข้อสงสัยว่า ทำไมบางท่านไม่มีชื่อในกรรมการ ต้องบอกว่า กรรมการชุดนี้เสมือนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่สนับสนุนฝ่ายปฏิบัติ เรามีฝ่ายนโยบาย คือ คณะรัฐมนตรี อย่างฝ่ายปฏิบัติ คือ ปลัด ข้าราชการประจำ โดยฝ่ายปฏิบัติก็มีหลายกระทรวง มีความแตกต่างลักลั่นกันอย่างในแง่การให้บริการ เห็นจากวิกฤตโควิด ตอนนั้นไม่รู้หน้าที่ใคร กระทบประชาชนนอนเสียชีวิตข้างถนนก็มี จึงต้องอุดช่องว่างนี้ ให้มีคณะทำงานชุดหนึ่งที่เป็นเอกภาพ ที่ผ่านมาปลัดแต่ละท่านหันมาคุยกันค่อนข้างยาก โควิดทำให้หันหน้ามามองกัน สถานการณ์บังคับ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ข้าราชการฝ่ายประจำทำยาก เสี่ยงผิดพลาดได้ จึงต้องมีองค์กรที่มีระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมารองรับ” รมว.สธ.กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-“ชลน่าน” โต้กลับหลังถูกมอง ‘บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ’ ลดอำนาจสธ. ชี้เราคีย์แมนสำคัญ
-“นิมิตร์” จี้บอร์ดสุขภาพแห่งชาติแก้ปัญหาถ่ายโอนรพ.สต. เหตุคนไข้เดือดร้อน บัตรปชช.ใบเดียวไม่มีจริง!
- 6153 views