“เลอพงศ์” ย้ำมติคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ยึดข้อมูลจาก สถ.เป็นหลัก เป็นไปตามพรบ.กระจายอำนาจฯ ใครได้สิทธิ์ไปรายงานตัว ถือว่าสังกัด อบจ.แล้ว แต่เพื่อความสบายใจ รอ สธ.เคลียร์ข้อมูลภายใน 31 ต.ค. ล่าสุดมอบให้ อบจ.ทำบันทึกข้อความรายบุคคลให้คนที่ต้องกลับไปปฏิบัติงาน สธ. จนกว่าจะกลับมาทำงานอบจ.ให้ถือว่า ไม่ขาดราชการ
กลายเป็นข้อถกเถียงกรณีการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่เกิดประเด็นบุคลากรสังกัดสธ.ไปรายงานตัวที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หรือท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อยังไม่ตรงกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น ทำให้หน่วยงานสธ.ทำหนังสือแจ้งบุคลากรว่า ยังไม่สามารถโอนย้ายได้ หากไปก็จะเป็นการขาดราชการและให้กลับมาประจำการตามเดิมในกลุ่มที่ยังต้องรอเลขประจำตำแหน่ง หรือรายชื่อให้สอดคล้องกันก่อนนั้น
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้บุคลากรที่แจ้งความประสงค์ถ่ายโอนจากรพ.สต.ไปอบจ. มีส่วนหนึ่งประสบปัญหารายงานตัวที่ท้องถิ่นแล้ว แต่กลับถูกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทำหนังสือให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม กลายเป็นว่าเกิดความสับสนเรื่องนี้มาก
ถ่ายโอนบุคลากร และรพ.สต.ไปอบจ.ยึดกฎหมายกระจายอำนาจฯ
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้มีการหารือกันในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมาก็มีมติชัดเจนเรื่องนี้แล้ว จนกระทั่งมาประชุมวันที่ 28 กันยายน 2566 และล่าสุดประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมก็มีมติแล้วว่า ข้อมูลจำนวนบุคลากร และจำนวน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนเป็นไปตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และอำนาจในการอนุมัติให้เป็นไปตามคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายใหญ่ คือ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ส่วนราชการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
คณะอนุกรรมการฯ มีมติว่า บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใน 5 หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ./รพท.) โดยบุคลากรที่อยู่ใน 5 หน่วยงานดังกล่วหากจะถ่ายโอนมายังอบจ. ให้สิทธิ์ผู้บังคับบัญชาอนุญาตได้ หมายถึงผู้อำนวยการ รพ. หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) นายแพทย์สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สามารถทำหนังสือยินยอมให้บุคลากรในหน่วยงานถ่ายโอนไปอบจ.ได้โดยไม่มีผลกระทบ แต่ปรากฎว่า กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า อำนาจตรงนี้ต้องให้ปลัดสธ. หรือกองบริหารทรัพยากรบุคคลอนุญาตตรงนี้
นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ทางอนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่มองว่า ผู้บังคับบัญชาในที่นี้ควรอยู่ในหน่วยงานชั้นต้นที่นั่น ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่กระทรวงฯ เพราะในพื้นที่ก็ควรให้พื้นที่พิจารณาว่า บุคลากรเราถ่ายโอนไป รพ.เราจะมีผลกระทบหรือไม่ แต่อนุกรรมการฯมีมติแล้วว่า ผอ.รพ.อนุมัติได้ ที่สำคัญหากได้สิทธิ์การถ่ายโอนแล้ว บุคคลที่มานั้นมาแต่ตัว ตำแหน่งไม่ได้ติดตัวมาด้วย กล่าวคือ โอนย้ายมา ทางอบจ.มีตำแหน่งให้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขไม่เสียเลขตำแหน่งใดๆ ยังมีตำแหน่งให้บุคคลากรในหน่วยงานขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งว่างได้ จึงไม่ได้กระทบใดๆ
“แต่กรณีนี้จะยกเว้นบุคลากรที่อยู่ใน รพ.สต. ที่จะโอนย้ายมาต้องมาทั้งคน และตำแหน่ง เพราะเป็นภารกิจในรพ.ที่ต้องตัดโอนมาท้องถิ่น จึงแตกต่างกัน ตรงนี้จะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการดึงตัวคนที่ไปรายงานตัวและบอกว่า ต้องรอตำแหน่งนั้น จริงๆ ไม่ต้อง เพราะถ้าเป็นแบบนี้มีเตรียมไว้หมดแล้ว” ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรตอนนี้มีความสับสน เพราะถ้าบุคลากรที่ไปรายงานตัวไม่มีชื่อตรงกับ สธ.และไม่กลับไปปฏิบัติงานจะถือว่าขาดราชการ นายเลอพงศ์ กล่าวว่า เมื่อได้สิทธิ์การถ่ายโอน และมารายงานตัวตามกฎหมายกระจายอำนาจแล้ว ดังนั้น การรายงานตัวถือว่า เป็นการเปลี่ยนสังกัด เมื่อมารายงานตัวในวันที่ 2 ตุลาคมหรือวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา มติกำหนดว่า บุคลากรกลุ่มนี้จะได้ตัดโอนมาอยู่ท้องถิ่นแล้ว เรียกว่า เป็นข้าราชการของอบจ.แล้ว จึงไม่ถือว่าขาดราชการของกระทรวงสาธารณสุข
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรม รพ.สต.ฯ เข้าพบ “หมอชลน่าน” เสนอแก้ปัญหาถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. 4 ประเด็น)
หาแนวทางช่วย 'บุคลากร' รายงานตัว อบจ. แล้วแต่ต้องกลับ สธ.
“เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความสับสนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหากรายงานตัวอบจ. แต่ไม่ปฏิบัติงาน กลับไปทำงานที่สธ.แทน จะยิ่งเป็นปัญหา และจะขาดราชการของ อบจ. เนื่องจากสังกัดอบจ.แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสบายใจและถูกหลักเกณฑ์ ขณะนี้ได้แจ้งไปยัง อบจ.ทุกแห่ง ทำบันทึกให้บุคลากรติดตัวไปก่อน ในระหว่างที่ยังไม่ชัดเจน โดยกลับไปทำหน้าที่ที่เดิมก่อนก็ได้ แต่เมื่อมีความชัดเจนแล้วก็สามารถกลับมาทำงานที่ อบจ.ได้ โดยมีบันทึกข้อความ เพื่อป้องกันปัญหาไม่ขาดงานทางฝั่งอบจ.” นายเลอพงศ์ กล่าว
หากอบจ.ไม่ทำบันทึกให้ และบุคลากรคนนั้นกลับไปทำงานที่สธ.หรือใน 5 หน่วยงานสังกัดสธ.ตามเดิม โดยไม่มีหลักฐาน จะกลายเป็นว่า ขาดราชการอบจ. เพราะไม่มีบันทึกเข้าทำงานฝั่งท้องถิ่นเลย กลายเป็นว่า อบจ.ต้องสอบสวนว่า เพราะอะไรขาดราชการอีก ดังนั้น บันทึกนี้จะช่วยได้
ขีดเส้น สธ.ทำตามมติถ่ายโอนฯ 31 ต.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จเมื่อไหร่ นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ในมติของอนุกรรมการฯ ระบุว่า ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เนื่องจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้มีการสอบถามผู้แทนกระทรวงฯ ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่ผู้ที่เข้าร่วมระบุว่า ไม่มีอำนาจตอบได้ ดังนั้น ในฐานะประธานฯ จึงบอกว่า ตามประกาศกระจายอำนาจฯ ระบุว่า หลังจากมีมติว่าใครได้ถ่ายโอนแล้วนั้น ส่วนราชการ คือ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องไปตัดโอนให้เรียบร้อยภายใน 15 วัน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเร่งรัดเกินไป จึงมีมติให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566
นอกจากนี้ในประเด็นเงินเดือนนั้น ได้มีการหารือกับทางสำนักงบประมาณแล้วว่า ให้ อบจ.ยื่นของบฯกลางได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป กรณีการถ่ายโอนบุคลากรปีงบประมาณ 2567
บุคลากรอยากกลับ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบุคลากรที่ประสงค์ไม่ถ่ายโอน หรือเปลี่ยนใจอยากกลับกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นายเลอพงศ์ กล่าวว่า มีแต่คำพูด เพราะเรื่องนี้จริงๆแล้ว ต้องมีข้อมูลรายชื่อ อยู่ที่ไหน จังหวัดใด ต้องมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งในการประชุมทุกครั้งได้ขอข้อมูลตรงนี้กับทางกระทรวงสาธารณสุขมาตลอด ปรากฎว่าไม่มี เรื่องนี้ตั้งแต่ถ่ายโอนแรกๆ จนบัดนี้เรายังไม่ได้ข้อมูลเลย
“แนวทางปฏิบัติของระบบราชการมีแนวทางขอโอนย้ายกลับได้อยู่แล้ว เป็นระบบปกติทั่วไปทุกกระทรวงฯ โดยหากมีตำแหน่งว่าง ก็โอนกลับได้” นายเลอพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลขบุคลากรที่ไปรายงานตัวอบจ.และต้องกลับไปทำงานสังกัดสธ.เนื่องจากประเด็นรายชื่อ มีจำนวนเท่าไหร่ นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลรายงานเข้ามาชัดเจน แต่ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ตัวเลขห่างกันราว 1 พันคนได้ อย่างของ สถ.มีบุคลากรถ่ายโอนรวมข้าราชการและลูกจ้างปี 2567ประมาณ 8,045 คน แต่ของสธ.จะประมาณ 7 พันกว่าคน
ขอ "หมอชลน่าน" กำชับขรก.สธ.ปฏิบัติตามมติ
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเลอพงศ์ กล่าวว่า อยากให้ท่านชลน่าน กำชับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติตามมติกระจายอำนาจฯ ตามมติของกฎหมาย เพราะการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขไปท้องถิ่น ย่อมส่งผลดีต่อการบริการประชาชน เพราะท้องถิ่นนั้นๆจะรู้บริบทแต่ละพื้นที่ว่า ต้องการอะไร
(ข่าวเกี่ยวข้อง : บอร์ดพัฒนาสุขภาพระดับชาติ ทางออกเชื่อมประสานปัญหาถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.)
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สสจ.เชียงราย แจงหนังสือถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่น หลังคนเข้าใจผิดว่า สธ.ยื้อไม่ให้ไป
-ปัญหาไม่หยุด! ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ร้องสธ.หาทางออกเคลียร์ปัญหาชื่อคนถ่ายโอนตกหล่น
-สธ.เล็งเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพปฐมภูมิ รองรับยกระดับบัตรทอง - รอประชุมก.ก.ถ.สรุปถ่ายโอนรพ.สต.
- 8583 views