กรมสุขภาพจิตเผยกรณีเหตุการณ์ห้างพารากอน ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย วอนอย่าเผยแพร่คลิป ภาพ อาจทำให้เกิดภาพติดตา ภาพส่งต่อส่งผลผู้รับผลกระทบ ญาติ ผู้สูญเสีย

 

เตือนอย่าส่งภาพคลิปเหตุการณ์รุนแรง ส่งผลผู้รับผลกระทบ ญาติ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุการณ์ยิงที่ห้างพารากอนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ด้วยวิกฤตต่างๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ตนขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่เกิดการสูญเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อม ขณะเดียวกันก็อยากจะขอวิงวอนกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ คลิปวีดีโอ เหตุการณ์ความรุนแรง สภาพการบาดเจ็บ สภาพผู้เสียชีวิต ที่อาจจะทำให้เกิดภาพติดตา ของผู้ที่ได้รับข่าวสาร โดยเฉพาะปัจจุบัน ภาพที่ส่งต่อกันนั้นสามารถเห็นได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มญาติ กลุ่มผู้สูญเสีย การเผยแพร่ภาพเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาเป็นการไม่ให้เกียรติผู้สูญเสีย ขอให้ทุกคนระมัดระวังไม่ส่งต่อถ้ามีการความรุนแรง และภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็กชาย การเข้าไปดูแล เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและที่ผ่านมาเคยเกิดกรณี ผู้ก่อความรุนแรงเป็นเด็กอายุน้อยๆ หรือไม่ พญ.อัพร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเสียใจ ที่ผู้อยู่ใกล้ชิดกับความรุนแรงมีอายุน้อยขนาดนี้ ถ้าพูดถึงโดยธรรมชาติของวัย แน่นอนว่าวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์หวือหวา มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย มีวุฒิภาวะจำกัดในการควบคุมอารมณ์ แต่ถึงจะมีเหตุผลด้วยเรื่องของวัย หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลงมือถึงขั้นใช้อาวุธร้ายแรง ทำร้ายทำร้ายชีวิตคน ถือว่าเป็นเหตุเกินกว่าที่สังคมจะรับได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญมากๆ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงลึกถึง สาเหตุของการก่อเหตุในครั้งนี้ คาดว่าจะมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้

"สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กเล็กเข้าถึง อาวุธที่ร้ายแรงได้อย่างไร กลไกการป้องกันตรงนี้ ถือเป็นจุดอ่อนที่อันตรายอย่างมาก เป็นประเด็นแรกที่เราต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยง ไม่ให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการควบคุมอารมณ์ ผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทั้งหลาย เข้าถึงอาวุธร้ายแรงได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 

เด็กวัยรุ่นกับการลอกเลียนแบบ

เมื่อถามว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา การที่เด็กหรือกลุ่มวัยรุ่นก่อความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดจากการลอกเลียนแบบความรุนแรงผ่านสื่อ หรือ การที่ชีวิตเขาอยู่กับ ความรุนแรงมาตลอดหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า การที่เด็กอยู่ในประสบการณ์มีการรับรู้ความรุนแรงโดยตรงต่อตัวเอง หรือการแตะสื่อซ้ำๆไม่ว่าจะเป็นการเห็นจากข่าว หรือกระทั่งสิ่งที่เป็นความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงอื่นๆ เมื่อผ่านการสัมผัสและการรับรู้ไปนานๆ จะทำให้เกิดความชาชิน เกิดการซึมซับแม้กระทั่งตัวเองยังไม่รู้ตัวว่าได้เผลอรับเอาความรุนแรงเข้าไปแล้ว นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังสังคม ป้องกันไม่ให้มีข่าวภาพข่าวคลิปเหตุการณ์ หรือกระทั่งสื่อความบันเทิงที่ ท่วมท้นด้วยความรุนแรงถูกเผยแพร่อย่างไร้ข้อจำกัด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนของการแสดงออก ของเด็กและวัยรุ่นบิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นได้อย่างรุนแรงมาก

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรมสุขภาพจิตจะเข้าไป ดำเนินการอย่างไร พญ. อัมพร กล่าวว่า เครือข่ายสุขภาพจิตร่วมกับกรุงเทพมหานครจะทำงานร่วมกัน ต้องคอยติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ที่สูญเสีย เพื่อนๆ และญาติ รวมถึงผู้ก่อเหตุครอบครัวหรือว่าญาติ ก็จัดอยู่ในขายของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ลืมไม่ได้คือตัวผู้ก่อเหตุเองอะไรคือสาเหตุน้อมนำทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ และผลกระทบจากสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปจะเกิดเป็นแผลอะไร ต่อตัวเขาและคนรอบข้าง ทางกรมสุขภาพจิตก็ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือและคลี่คลายทุกอย่างให้เร็วที่สุด

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.เผยเด็ก 14 ยิงพารากอน รักษารพ.เด็กไม่สามารถให้ข้อมูลผู้ป่วย ขณะที่จิตแพทย์ดูแลผู้รับผลกระทบ