รมว.ชลน่าน พร้อมผู้บริหารสธ.และกรมสุขภาพจิต ร่วมเปิดจุด Care D+ Space  สยามพารากอน ตั้งบูธการดูแลสุขภาพจิต โดยทีมสหวิชาชีพ คัดกรองพร้อมประเมินด้วยเครื่อง Biofeedback และให้คำปรึกษาแนะนำดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ Tourist Service Center ศูนย์การค้าสยามพารากอน  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ย่านปทุมวัน  Care D+ Space ซึ่งมีการตั้งบูธการดูแลสุขภาพจิต โดยทีมสหวิชาชีพจากกรมสุขภาพจิต มีการคัดกรองสุขภาพจิตผ่านช่องทางดิจิทัล การให้บริการประเมินตนเองด้วยเครื่อง Biofeedback และการให้คำปรึกษาแนะนำดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น โดย นพ.ชลน่านได้ลองเข้าประเมิน Biofeedback พบว่า มีความเครียดทางกายเล็กน้อย ไม่มีความเครียดทางจิตใจ สามารถจัดการกับความเครียดได้ดี

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย มีการทำร้าย มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ซึ่งตั้งแต่วันที่เกิดเหตุกรมสุขภาพจิตมีทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) เข้ามาประเมินสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพื่อรักษาบาดแผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสยามพารากอนให้ใช้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่ให้บริการของ Care D+ Space ดูแลทั้งคนในห้างที่มาจับจ่ายใช้สอย หรือทราบว่ามีการดูแล นอกจากนี้ ยังทำคิวอาร์โคดให้สแกน เพื่อเข้ารับการประเมินได้ หรือสื่อสารผ่านโทรศัพท์ 1667

ขอย้ำว่าจุดนี้ไม่ใช่ศูนย์บำบัดด้านจิตเวช แต่เป็นศูนย์เยียวยาด้านจิตใจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาคนประสบเหตุ ซึ่งขั้นตอนการรับบริการจะมีให้ประเมินระความรุนแรงของความเครียด มี Biofeedback ซึ่งเป็นเครื่องวัดที่บอกสภาวะจิตใจและร่างกายได้ โดยใช้นิ้วมือเข้าไป ใช้เวลา 2 นาที เครื่องอ่านออกมา จากการหลั่งสารในร่างกาย ซึ่งบอกลึกถึงขนาดเรามีสภาวะมองตัวเองอย่างไร ควบคุมสติ สมาธิตอบสนองต่อสิ่งเร้า ลักษณะเส้นเลือดเป็นอย่างไร ตีบ หนา แข็งหรือไม่ เป็นต้น จากนั้นจะส่งเข้าสู่นักให้คำปรึกษาแนะนำ ถ้ามีความจำเป็นเจอผู้เชี่ยวชาญ ก็มีจิตแพทย์สื่อสารทางเทเลเมดิซีน

"เราทำมา 2 วันแล้ว ตั้งแต่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยวันแรกมีผู้รับบริการ 23 คน เครียดมาก 9 คน ทุกรายรับการเยียวยาแนะนำ ซึ่งจากนี้จะเปิดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ศูนย์นี้ยังให้บริการชาวต่างชาติได้ เรามีบุคลากรที่สามารถพูดคุยสื่อสารได้ด้วย ทั้งนี้ การดูแลทางจิตสำคัญ เราพร้อมเป็นเพื่อน ให้คำปรึกษาแนะนำคนรับผลกระทบ ให้กำลังใจทุกคนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนไทยที่รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ถ้าช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นจะกลับมาเร็ว ผลกระทบจะลดน้อยลงโดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ช่วยกันดูแลมิติทางสุขภาพ โดยเฉพาะฐานเล็กที่สุดคือครอบครัว" นพ.ชลน่านกล่าว

 

ถามถึงกรณีมีการบอกว่าผู้ก่อเหตุติดเกม จะมีการดำเนินการเพื่อป้องกันการหมกมุ่นติดเกมอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในเชิงนโยบายเราเห็นเรื่องนี้สำคัญ จึงมีนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตและยาเสพติด ประกาศเป็น Quick Win อย่าง Mental Health Anywhere ตรวจสุขภาพกายหรือจิต คิดว่ามีความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงแหล่งให้ความรู้คำปรึกษาได้ เรามีนโยบายตรงนี้ อย่างวันนี้เรามีการสแกนคิวอาร์โคด ต่อสายพูดคุยได้ จะมีแอปพลิเคชันต่างๆ แชตคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อน สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ มีสภาวะด้านจิตและสติปัญญาดี อย่างกลุ่มเด็ก เราประสาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพื่อให้เขารู้ตัวเอง มีวิธีการตัดสินต่อการตอบสนองต่างๆ ได้

 

พญ.อัมพร กล่าวว่า งานสุขภาพจิตโรงเรียน เราไม่ได้แค่เข้าไปคัดกรอง ส่งต่อ แต่ต้องดูแลพฤติกรรมการเสพติดปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม การติดเกมไม่ว่าเกี่ยวข้องกับรายนี้หรือไม่ แต่ปัญหาพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่น สังคมต้องให้ความสนใจ เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของกรมสุขภาพจิตต่อไป ซึ่งการติดเกมเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากเป็นการหมกมุ่นกับกิจกรรมนั้น จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน พักผ่อน คบหาเพื่อนฝูง ทักษะทางสังคม สัมพันธภาพในครอบครัว ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิต แม้ไม่ใช่โรคทางจิตเวชก็ตาม สิ่งที่ต้องห่วงพิเศษ คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับความรุนแรง เกมที่มีความรุนแรง สิ่งที่อยู่ในกระแสโซเชียลที่มีความรุนแรง เป็นสิ่งที่พวกเราต้องจำกัดและกำจัดออกไปจากสังคมให้เหลือน้อยที่สุด อีกสิ่งคือเวลาเหตุเกิดบ่อยครั้ง มีการสื่อสารรายละเอียดการก่อเหตุหรือผู้ก่อเหตุเกินเหมาะสม แต่ละครั้งที่เกิดความรุนแรงเป็นไปได้ไหมว่า ผู้ก่อเหตุเลียนแบบจากครั้งที่ผ่านมาๆ แล้วมาเกิดครั้งนี้ครั้งหน้า ผู้ก่อเหตุไม่ควรมีพื้นที่ยืนในพื้นที่ข่าว ไม่ควรแตะตรงนั้น ควรไปที่การป้องกันเหตุการณ์และคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นแทน

ด้าน นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า Care D+ Space หรือฟื้นฟูจิตใจหลังภยันตราย เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ. กทม. และสยามพารากอน การให้บริการจะแบ่งออกเป็นจุดๆ ได้แก่ สถานีแรกเป็นจุดลงทะเบียน จะมีให้สแกนคิวอาร์โคกเพื่อทำการประเมินความเครียดด้วยตนเอง ว่าความเครียดอยู่ระดับใด น้อย กลาง หรือมาก จากนั้นสถานทีที่สอง จะเป็นสถานีเช็กอินเปิดโอพีดีการ์ด ซึ่งจริงๆ ไม่ว่าประเมินแล้วเครียดหรือไม่เครียดก็มาจุดนี้ได้ เพราะจะมีนักวิชาชีพ ทั้งนักวิชาการสาธารณสุขและพยาบยาลช่วยประเมินอีกครั้งว่าระดับเครียดอยู่ระดับใด หากมีความเครียดน้อยก็มีสถานีที่ 3 จะมีโปรแกรมกระตุ้น คือ เซียมซีความสุข เป็นกลเม็ดสร้างความสุข ถ้าเครียดกลางถึงมากมาสถานทีที่ 4 มาพบนักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช โดยเราจะมีเครื่อง Biofeedback ในการประเมินด้วย จะบอกว่าเครียดระดับไหนและส่งเข้าปรึกษา มีทั้งนักจิตวิทยา และมีการเทเลเมดิซีนกับแพทย์ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และบางช่วงจะมีแพทย์มาประจำ และมียาเบื้องต้นสำหรับออกหน่วย เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ และทั้งทั้งหมดจะมีการติดตาม เนื่อจากโรคเครียดหลังเผชิญเหตุอันตราย อาจอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ ถ้าเกิน 1 เดือนจะเป็นโรค PTSD ก็จะมีการติดตาม

"เท่าที่เจอตอนนี้มีเข้ามาประมาณ 30 กว่าเคสที่มีความเครียด ส่วนใหญ่จะเป็นเครียดน้อย มีเครียดมากประมาณ 10 ราย ส่วนหใญ่จะมีโรคเก่า หรือเห็นเหตุการณ์ตรงนั้น ส่วนใหญ่เป็นพนักงานห้างที่หลบอยู่ตรงนั้น เรามีคิวอาร์โคดให้สแกนที่เราสามารถโทรกลับได้ ซึ่งวันหนึ่งเข้าออกห้างนี้กว่าแสนคน ช่วงเวลาเกิดเหตุก็หลายคน ซึ่งจุดนี้เราสามารถรองรับ 40-50 คนต่อวัน และจะเปิดประมาณ 7 วัน คือวันที่ 5-11 ต.ค. 2566 แล้วประเมินผลอีกที เพราะโดยเฉลี่ยโรคจะหนักๆ ใน 7 วันแรก ถ้ามีก็มาปรึกษาก่อน เราก็จะแนะนำรักษา" นพ.ศรุตพันธุ์กล่าว

นพ.ศรุตพันธุ์กล่าวว่า สำหรับคนที่มีอาการมาก เราจะมาดูว่าเป็นโรคอะไร และให้การรักษา ถ้าเครียกจากเหตุการณืก้ให้รู้จักผ่อนคลาย เพราะส่วนใหญ่จะกลัว นอนไม่กลับ ก็จะช่วยให้หายกลัว อยู่ในที่ปลอดภัย มีกิจกรรมที่ทำที่ชอบไม่ให้วนเวียนอยู่กับความกลัว เราจะมีการติดตามต่อเนื่องแต่ละสัปดาห์จนถึง 1 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ 1-2 สัปดาห์จะจบไม่มีปัญหา หากเกิน 1 เดือนจะไม่ดี มีความเสี่ยงสูง เราเป็นหน่วยเบื้องต้น ถ้าเรารักษา 7-10 วันไม่ดี เราจะให้ไปรักษาใกล้บ้าน เราจะแนะนำว่ามีตรงไหนใกล้ สำหรับภาพรวมสถานการณ์ถือว่าดี เพราะน้อยกว่าโคราช ความรุนแรงต่างกัน และคนที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์แต่อยากรับบริการก็เข้ามาได้เช่นกัน