ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุขเผยนโยบาย 50 เขต 50 รพ. นำร่องเขตดอนเมือง Quick win  ใน 100 วันเห็นอะไร พร้อมจัดสรรบุคลากรสังกัด สธ. เครือข่าย รพ.บ้านแพ้ว เติมก่อนพิจารณาส่วนอื่นๆตามมา

 

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบาย “50 เขต 50 รพ.” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มทำภายใน 100 วัน ที่มีการประกาศว่าในช่วงแรกจะมีการนำร่องในเขตดอนเมืองก่อน ว่า ในช่วงแรกของการทำนโยบาย 50 เขต 50 รพ. จะนำร่องในพื้นที่เขตดอนเมืองก่อน ซึ่งระยะแรกจะเป็นการดูสถานที่ที่สามารถนำอาคารที่มีอยู่เดิม มาปรับปรุงพัฒนาให้เป็น รพ. ขนาด 120 เตียง ในลักษณะการบริการปฐมภูมิ ที่มีห้องตรวจ มีห้องฉุกเฉิน มีห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม แน่นอนว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สธ. ก็จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนระยะยาว ก็จะมีการของบประมาณก่อสร้างที่อยู่ในสัดส่วนของ สธ. มาเพื่อสร้างเป็น รพ.

 

“สิ่งที่เราจะทำให้เห็นใน 100 วันคือปรับปรุงอาคารสถานที่ให้พร้อมและสามารถจัดบริการให้ผู้ป่วยได้เลย ซึ่งถ้าเขตอื่นมีความพร้อมก็จะวิธีการเดียวกันนี้ขยายผลไป” นพ.ชลน่าน กล่าวและว่า ตนมั่นใจว่านโยบายนี้จะต้องเริ่มได้ใน 100 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาศักยภาพตามนโยบายเร่งด่วน ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายชุดขึ้นมาทำงานร่วมกัน

 

เมื่อถามถึงการบริหารด้านบุคลากรที่จะต้องมาประจำที่ รพ. 120 เตียงในเขตดอนเมือง รมว.สธ. กล่าวว่า เราสามารถจัดสรรเข้าไปดูแลได้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นบุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ ก่อน ที่หลักๆ จะเป็นเครือข่าย รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จากนั้น ก็จะดูว่าจำเป็นต้องใช้บุคลากรด้านใดบ้างก็จะจัดสรรมาอยู่ประจำ ทั้งนี้ ตนมองว่าอยากให้ รพ. ใน กทม. เป็นเหมือน รพ.บ้านแพ้ว ที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และยังเป็นองค์กรมหาชน ถ้าหากทำได้ก็จะเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และสธ.จะแก้ปัญหาการจัดการที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ ทั้งหมด

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ท่าน รมว.สธ. ได้ประกาศ 13 นโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการที่จะมาทำงานรวม 13 ชุด ซึ่ง 1 คณะทำงานก็จะมาดู 1 นโยบาย อย่างนโยบาย 50 เขต 50 รพ. เป้าหมายคือการเข้าไปแก้ปัญหาของพื้นที่ กทม. ที่ขาด รพ. ในระดับทุติยภูมิ ทำให้การเข้าถึงบริการค่อนข้างยาก ส่วนวิธีการก็มีหลากหลายวิธี ซึ่งคณะกรรมการที่รับผิดชอบก็จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น การร่วมมือกับ กทม. หรือจะให้กรมการแพทย์ ของกระทรวงฯ เป็นคนทำ หรืออาจจะไปร่วมมือกับเอกชน ฉะนั้น อาจต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน นอกจากนั้นก็จะต้องไปคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย