รพ.จุฬาภรณ์ให้ความรู้โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือ AF  หนึ่งในโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตค่อนข้างสูงและมักพบคู่กับภาวะหัวใจขาดเลือด เผยการรักษาหลักๆ 2 วิธี

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงานและเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องโรค “หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอันตรายเกินคาดเสี่ยงสมองขาดเลือด” เนื่องในวันหัวใจโลก 29 ก.ย. ในปีนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์หัวใจและหลอดเลือด จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนคนไทยดูแลสุขภาพหัวใจด้วยแนวคิด “ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน” โดยมี นพ.ดำรงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด พญ.ชนกพร ลักขณานุรักษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ และ นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์ ร่วมในเวทีการเสวนา

สาเหตุก่อโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ กล่าวว่า ทาง รพ.จุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านโรคหัวใจมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เราเน้นเรื่องโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือ AF ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงและมักจะพบคู่กับภาวะหัวใจขาดเลือด สาเหตุที่หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เกิดจากตัวนำสัญญาณของหัวใจ ทำงานผิดจังหวะ ขณะที่หัวใจห้องบนมีหน้าที่เก็บเลือดแล้วส่งไปยังหัวใจห้องอื่นๆ เพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น เมื่อหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วผิดจังหวะก็ไม่สามารถเก็บเลือดส่งได้ทำให้เลือดที่ส่งไปยังร่างกายน้อยลง เป็นที่มาของอาการหน้ามืด วูบ หรือเหมือนจะเป็นลมที่เป็นสัญญาณของการเกิดโรค แต่อันตรายของหัวใจสั่นพลิ้วมีมากกว่านั้น เพราะยังสามารถทำให้เลือดในหัวใจเกิดการแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือด เมื่อหลุดออกจากหัวใจไปอวัยวะอื่นๆ ก็จะส่งผลให้เกิดอัมพาต

“อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ คือความเสื่อมของหลอดเลือดตามอายุ และเกิดไขมันเกาะในหลอดเลือด จึงมักพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ฉะนั้นการป้องกันโรค AF สามารถดูแลโดยหลักพื้นฐานง่ายๆ ทั้งการกินอาหารที่เหมาะกับโภชนาการ ดูแลภาวะอ้วน โรคเบาหวานและหมั่นออกกำลังกาย เพื่อทำให้ระบบท่อประปาของหัวใจแข็งแรง” ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า คำแนะนำในการดูแลหัวใจของเราคือการตรวจสุขภาพหัวใจปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย EKG เพื่อหาสัญญาณของโรคหัวใจ และเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

การรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

ด้าน นพ.ธารา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกพบผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมสูงอายุ ซึ่งโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วก็จะพบมากขึ้นในอายุที่เพิ่มขึ้น ระดับนานาชาติก็ให้ความกังวลเรื่องนี้มากขึ้นด้วย ทำให้แพทย์โรคหัวใจทั่วโลกร่วมกันออกแนวทางเวชปฏิบัติ หรือไกด์ไลน์การรักษาต่างๆ ออกมาเพิ่มขึ้น และมีไกด์ไลน์เฉพาะโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วด้วย การรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในปัจจุบันมี 2 ทางหลักๆ คือ

1.การให้ยา ซึ่งมีข้อดีคือไม่ภาวะแทรกซ้อนน้อยกกว่าการจี้ไฟฟ้า แต่ข้อเสียคือจะต้องกินยาต่อเนื่อง และในบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยา เช่น หัวใจเต้นช้าเกินไป ทำให้เกิดความดันต่ำหรืออาการวูบได้

 2.การจี้ไฟฟ้าหัวใจ เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า มีโอกาสที่หายขาดหรือใกล้เคียงปกติมากกว่าการกินยา แต่ก็มีข้อเสียบ้างแต่พบไม่มาก เช่นหัวใจทะลุ หรือเสียชีวิตจากการจี้ไฟฟ้าหัวใจ อย่างไรก็ตาม การรักษาจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าควรจะปรับใช้วิธีใด ทั้งนี้ โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ถ้ารักษาก็มีโอกาสหายขาดได้