ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์การแพทย์มะเร็งฯ จุฬาภรณ์  จัดทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งคนไข้ และญาติ  ปรับสภาพจิตใจ ลดเครียด  เริ่มตั้งแต่วินิจฉัยพบมะเร็ง จนถึงการรักษาแบบประคับประคอง  พร้อมให้คำแนะนำ "พินัยกรรมชีวิต" เมื่อรักษาถึงวาระสุดท้าย ยังสามารถวางแผนอยู่ร่วมกับครอบครัวได้   ล่าสุดสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป รับรองศูนย์มะเร็งจุฬาภรณ์ ได้มาตรฐานแห่งแรกของไทย

 

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ที่ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์   จัดเสวนาให้ความรู้ Not Only High-Tech, But also High-Touch: เทคโนโลยีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการดูแลหลังการสูญเสีย  ทั้งนี้  ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป หรือ ESMO (European Society for Medical Oncology) ให้เป็น “ESMO Designated Centres of Integrated Oncology and Palliative Care” เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองนี้ 

โดย พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และคณะแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวถึงวันการดูแลแบบประคับประคองสากล World Hospice and Palliative Care Day  ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี ว่า  การจัดกิจกรรมวันดังกล่าว เพื่อสร้างความตระหนัก และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งไม่ใช่แค่โรคมะเร็งอย่างเดียว แต่ยังเป็นโรคอื่นๆที่รักษาไม่หายขาดด้วย 

"รพ.จุฬาภรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและญาติแบบประคับประคองควบคู่กับการรักษาหลักของโรคมะเร็ง และตามพระราชปณิธานขององค์ประธาน ที่ว่าเป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต เราจึงต้องการจัดงานเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ครั้งนี้ อย่างที่ทราบว่า การดูแลเริ่มต้นตั้งแต่คนไข้ทราบว่า เป็นโรคที่รักษาไม่หาย จึงต้องดูแลรักษาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต" พญ.จอมธนา กล่าว

 

นพ.อดิศร โวหาร ประธานคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาเวศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่า การดูแลแบบประคับประคอง เป็นการดูแลมุ่งเน้นคนไข้ที่รักษาได้ยาก และบางคนมีเวลาชีวิตจำกัด ยกตัวอย่าง โรคมะเร็ง ถ้าเป็นโรคที่รักษายาก อยู่ยาวนานผลกระทบชีวิตก็ย่อมมากขึ้น เช่น หากก้อนมะเร็งอยู่ในปอดก็จะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอกจากกระทบร่างกายแล้ว ยังกระทบจิตใจ มีความเครียด ความกลัว บางคนกลัวตาย กลัวเสียชีวิต 

"หลายคนที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง มักบอกว่าไม่กลัวเสียชีวิต แต่กลัวเจ็บปวด ซึ่งการดูแลแบบประคับประคอง มีทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา เพื่อลดการเจ็บปวด หรือไม่ปวดเลย ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สิ่งเหล่านี้คือการดูแลทางด้านร่างกาย แต่การดูแลทางด้านจิตใจจะมีความทุกข์ ท้อแท้ ซึ่งทางทีมจะดูแลทางด้านจิตใจด้วย โดยจะมีคุณหมอคุณพยาบาลประจำตัวคอยดูแลให้คำแนะนำคนไข้ และหากต้องการระบายความรู้สึกอะไร ที่บอกใครไม่ได้สามารถบอกเราได้ รวมไปถึงเรื่องสิทธิการรักษา สามารถปรึกษาเราในการประสานต่อได้" นพ.อดิศร กล่าว 

นพ.อดิศร กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ เรายังดูแลครอบครัวของคนไข้ด้วย เพราะจะมีความเครียดเกิดขึ้น มีความกลัวว่าคนที่รักจะจากไปก่อนวัยอันควร ซึ่งเราพร้อมให้ความสนับสนุนช่วยเหลือให้เขาผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้ โดยเรามีกิจกรรมบำบัดต่างๆ มีศิลปะบำบัด มีดนตรีบำบัด เพื่อให้คนไข้อยู่ร่วมกับโรคมะเร็งได้

นพ.อดิศร กล่าวว่า จริงๆ คนไข้ที่ป่วยมะเร็ง หากมองมุมบวกเขามีเวลาเตรียมตัว เรียกว่า สามารถวางแผนการเสียชีวิต เนื่องจากคนเรามีการวางแผนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรียนอะไร ทำงานอะไร แต่เรื่องการเสียชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ อย่างแผนการดูแลของคนไข้ประคับประคองจะเรียกว่า แผนการดูแลรักษาตัวเองล่วงหน้า หรือ "พินัยกรรมชีวิต" ซึ่งเราสามารถบอกว่า ในเวลาที่จะเสียชีวิตเมื่อโรคอยู่ในวาระของชีวิต โรคไปสุดทางแล้ว อยากให้ใครมาอยู่ข้างๆ เวลาเราจะเสียชีวิต ญาติพี่น้อง พ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว หรือพระสงฆ์ หรืออยากเสียชีวิตที่บ้านตัวเอง เราเลือกได้ รวมถึงการรักษาบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์ช่วงนั้น เช่น การยืดชีวิตออกไป แต่มีความเจ็บปวด หรืออยากให้ยื้อชีวิตเต็มที่หรือไม่ ให้เข้าไอซียู แต่ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้อยู่กับญาติพี่น้องพร้อมหน้า

"อย่างผมก็วางแผนเรื่องนี้เช่นกัน แต่หากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน แบบนี้ก็ต้องยื้อชีวิต ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ป่วยในวาระสุดท้าย" นพ.อดิศร กล่าว 

 

นพ.อดิศร กล่าวอีกว่า การดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องใหญ่ และซับซ้อน เพราะต้องดูแลทั้งร่างกาย และจิตใจ และดูแลครอบครัวคนไข้ และดูแลเรื่องมิติจิตวิญญาณ เช่น อยากเจอใคร อยากทำอะไร มีความเชื่ออะไรในขณะที่มีชีวิต เรื่องนี้ไม่ใช่หมอคนเดียว หรือพยาบาลคนเดียว แต่เรามีทีมที่ใหญ่มาก ทั้งแพทย์ดูแลแบบประคับประคอง จะทำงานประสานกับคุณหมอประจำที่ดูแลโรคมะเร็งของท่าน เรียกว่าทำงานเป็นทีมทั้งหมด

ขณะที่พญ.จอมธนา  กล่าวว่า รพ.จุฬาภรณ์ เราจะมีการวางแผนมีการวางเป้าหมายตั้งแต่การรักษา ทำไปเรื่อยๆ และเมื่อวันหนึ่งโรคแย่ลง ไม่ได้ผลอย่างที่คาดการณ์ แต่ก็จะมีการสื่อสารตลอดว่า เราสามารถประคับประคองเพื่อให้เขาไปต่อได้ ทั้งประคับประคองให้รักษาจนจบ หรือจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งทีมPalliative Care มาช่วยเหลือตรงนี้ ไม่มีทิ้งคนไข้

น.ส.รัตติยา ไชยชมภู หัวหน้าหน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ กล่าวว่า    การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ใช่ว่าเจาะจงดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่เราจะดูตั้งแต่เริ่มแรกได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง เพราะวันที่จะมาฟังผลชิ้นเนื้อก็มีความทุกข์อยู่แล้ว และเมื่อทราบผลเป็นมะเร็ง หนทางก็ยิ่งมืด ทำให้ยิ่งทุกข์ ยิ่งเคว้งคว้าง ทีมดูแลประคับประคองจะไปดูแลตั้งแต่แรก โดยช่วงแรกจะรับฟังความรู้สึก สอบถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร เช่น หากกังวลค่ารักษา เราจะมีทีมและดำเนินการประสานส่งต่อ ฯลฯ รวมไปถึงเรื่องต่างๆ เราจะดูแลทั้งหมดเช่นกัน

"ทีมเราจะดูแล 2 เรื่องหลัก คือ การดูแลแบบประคับประคอง และการจัดกิจกรรมบำบัดต่างๆ อย่างศิลปะบำบัด ให้ผู้ป่วยและญาติทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งคนไข้บางคนไม่ค่อยพูด จะดูแลยาก เพราะจะไม่ทราบความคาดหวังหรือความต้องการของเขา แต่เมื่อได้ให้มาร่วมกิจกรรมการวาดภาพ และให้เขาถ่ายทอดออกมา และพูดว่า ภาพที่วาดสื่ออะไร ก็จะเป็นตัวช่วยการสื่อสารได้" น.ส.รัตติยา กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

 

ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ยูทูป
https://www.youtube.com/watch?v=dPWlT3xpnQ8

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง